“กรุงไทย” พร้อมสู้ศึกแข่งขัน ผนึกพันธมิตรแก้เศรษฐกิจนอกระบบ

Phayong
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในลักษณะ K Shape ธนาคารยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเน้นการเติบโตแบบ Inclusive Growth หรือ การเติบโตอย่างทั่วถึง การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม เป็นการเติบโตที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นี่คือคำกล่าวของ “ผยง ศรีวนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในงานแถลง CEO Vision : Business Strategy 2024 ที่เมืองเสิ่นเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน

ปฏิรูปแบงก์ให้แข่งขันได้

“ผยง” กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยพยายามปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด มีการปฏิรูปองค์กรตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งจะเห็นว่าธนาคารสามารถเติบโตได้ดีพอสมควร ในแง่ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) และการตอบโจทย์สังคม โดยมีจำนวนสาขามากที่สุด แม้ว่าไทยกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีโมบายแบงกิ้ง ธนาคารจึงยังต้องเปิดสาขาในต่างจังหวัด รวมถึงมีเครื่องเอทีเอ็มในรัศมี 5-10 กิโลเมตร เพื่อให้คนเข้าถึงบริการทางการเงิน เนื่องจากธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ

การปฏิรูปตัวเอง แบ่งเป็น 3 เฟส ได้แก่ 1.ปัดกวาดธนาคารให้กล้ามเนื้อกระชับ และอยู่บนรากฐานธรรมาภิบาล (ปี 2557-2562) โดยรวมศูนย์การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี จากเดิมที่กระจายให้สาขาปล่อยเองได้ ซึ่งจะเห็นว่า เดิมธนาคารมีสัดส่วนเอสเอ็มอีสูงมากถึง 21% ซึ่งเป็น “High Risk Low Return” ปัจจุบัน ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 สัดส่วนเอสเอ็มอีเหลือ 10% และมีสัดส่วนสินเชื่อภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 16% จากปี 2559 อยู่ที่ 4%

2.พยายามปิด Gap คู่เทียบ (ปี 2562-2565) จากในอดีตที่กรุงไทยไม่มี “Moblie Banking” มีเพียง “NetBank” หากจะสามารถเทียบเท่าคู่เทียบจะต้องใช้เวลา 5-7 ปี และไม่สามารถแซงคู่เทียบได้ จึงเริ่มศึกษา “Open Finance” ซึ่งสุดท้ายตัดสินใจทำระบบเปิดและปิดพร้อมกันเป็น “Open Banking” 3.การหา Digital Talent (ตั้งแต่ปี 2565-ปัจจุบัน) เพื่อหา Growing New Business

ตัวเลขสะท้อนความสำเร็จ

“จากแผนที่ธนาคารดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้สะท้อนมายังตัวเลขการเงินต่าง ๆ เช่น การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (Coverate Ratio) อยู่ที่ระดับ 170-180% โดยธนาคารจะมีการทบทวนตลอดเวลา สอดคล้องกับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากเดิมกรุงไทยเป็นธนาคารที่มีเอ็นพีแอลสูงสุดในระบบ แต่ปัจจุบันอยู่ใกล้เคียงกับคู่เทียบและไปในทิศทางเดียวกับ Coverate Ratio”

ขณะที่ต้นทุนต่อรายได้ (Cost to Income) โดยทุกการลงทุนของธนาคารจะต้องมีกำไรอย่างเหมาะสม ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 42-43% ซึ่งเป็นระดับที่แข่งขันได้และดีกว่าคู่เทียบ ถือเป็นการเติบโตแบบคุณภาพที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Advertisment

ยุทธศาสตร์ 5 ปี เข้าสู่ปีที่ 2

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี (ปี 2566-2570) จะขับเคลื่อน 7 ด้านสำคัญ โดยยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ปี 2567 นับเป็นปีที่ 2 ได้แก่ 1.เร่งต่อยอดยุทธศาสตร์เดิม คือ X2G2X ให้เกิดการเชื่อมโยงในเชิงลึกในกลุ่มลูกค้าต่าง ๆ เพื่อพาธนาคารไปสู่โลกสมัยใหม่บนโลกดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืน 2.ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG 3.ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีหลักขององค์กร ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT และ Digitalization

4.เพิ่มประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล เร่งนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ 5.ปรับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ให้เป็นไปในลักษณะ Agility มีความคล่องตัว โดยอาศัยหลักการแบบ Fail Fast Learn Fast ยกระดับพนักงานให้มีทักษะใหม่ ๆ (Upskill/Reskill)

Advertisment

6.สร้างการเติบโตในมิติใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร และ 7.ธนาคารให้ความสำคัญกับเรื่องของ “คน” ธนาคารจำเป็นต้องมีบุคลากรพันธุ์ใหม่ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนคนเก่า โดยการ Reprocess และนำเทคโนโลยีมาช่วย เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น

แก้เศรษฐกิจนอกระบบด้วย Data

นายผยง กล่าวว่า ภายใต้ความท้าทายและจุดเปลี่ยนในโลกที่มากขึ้น เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การเข้ามาของเทคโนโลยี (Technology Disruption) และ สังคมสูงวัย (Aging Society) ขณะที่ไทยมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทั้งในเรื่องศักยภาพการเติบโตที่ต่ำ ปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จนนำไปสู่เศรษฐกิจนอกระบบที่สูงถึง 48.4% สะท้อนผ่านตัวเลขการเสียภาษีของคนมีเพียง 4 ล้านคน จากประชากรที่มีในระบบ 70 ล้านคน

ขณะเดียวกันมีคน 27% เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ซึ่งมีเพียง 17% เข้าถึงบริการทางการเงินแต่เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย

“การที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ จำเป็นต้องมี Data เพราะถ้าไม่มี Data จะแก้ไม่ได้ และในท้ายที่สุดจะนำเงินจากไหนมาสนับสนุนเศรษฐกิจนอกระบบที่โตขึ้นเรื่อย ๆ”

ผนึกพันธมิตรลุย Virtual Bank

สำหรับ Virtual Bank ถือเป็นอีก 1 เครื่องมือในการให้บริการคนที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ โดยกรุงไทยจะทำงานร่วมกันกับพันธมิตร อาทิ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ AIS ที่มีฐานลูกค้ามากกว่า 40 ล้านคน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่มีการร่วมมือกันทั้งในเรื่องของพลังงานสะอาด ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) รวมถึงเรื่อง Ecosystem และ Data Center

“Virtual Bank ถ้าทำแล้วเหมือนเดิม หรือทำเพื่อแข่งขันกับผู้เล่นรายเดิม คงไม่มีประโยชน์ ดังนั้น Virtual Bank จะต้องเข้ามาช่วยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และตอบโจทย์ Social Gap ที่ประเทศไทยมี เช่น เศรษฐกิจนอกระบบที่มีสูงถึง 50% ของ GDP เนื่องจากคนกลุ่มที่ว่านี้ ไม่มีข้อมูล ทำให้คุณภาพของข้อมูลทางเลือก และความปลอดภัยสำคัญมาก ซึ่งต้องดูว่ากลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Under Serve) เข้าได้หรือไม่ และการติดตามหนี้จะทำอย่างไร ในช่วงที่ไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ธนาคารต้องคิดภาพเหล่านี้ให้ออก”