ดอลลาร์ทรงตัว รอรับปัจจัยใหม่สัปดาห์นี้

ดอลลาร์

ดอลลาร์ทรงตัว รอรับปัจจัยใหม่สัปดาห์นี้

วันที่ 13 สิงหาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/8) ที่ระดับ 35.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับค่าเงินในภูมิภาคที่ส่วนใหญ่อ่อนค่า เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตร

โดยกระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ แตะที่ระดับ 2.44 แสนล้านดอลลาร์ในเดือน ก.ค. 2567 หรือเพิ่มขึ้น 10% จากระดับ 2.21 แสนล้านดอลลาร์ในเดือน ก.ค. 2566

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณในเดือน ก.ค. 2567 สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.42 แสนล้านดอลลาร์ ปัจจัยที่ทำให้สหรัฐขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการชำระดอกเบี้ยตราสารหนี้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นด้วย

โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ รัฐบาลสหรัฐมีค่าใช้จ่ายในการชำระดอกเบี้ยตราสารหนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 7.63 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าการใช้จ่ายในโครงการสุขภาพ Medicare และการใช้จ่ายทางทหาร กระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า ส่วนต่างระหว่างการใช้จ่ายและเงินได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลสหรัฐนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.44 แสนล้านดอลลาร์ในเดือน ก.ค. 2567 จากระดับ 2.21 แสนล้านดอลลาร์ในเดือน ก.ค. 2566

โดยค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในเดือน ก.ค. 2567 มีอยู่ทั้งสิ้น 5.74 แสนล้านดอลลาร์ เทียบกับเงินได้จากการจัดเก็บภาษีซึ่งอยู่ที่ 3.30 แสนล้านดอลลาร์ ตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดของสำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ (CBO) ระบุว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2563 และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักเท่ากันต่อการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ในการประชุมเดือน ก.ย. และคาดว่าภายในสิ้นปี 2567 เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 1%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ได้จำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 บนวอลเล็ต สบม. (สะสมบอนด์มั่งคั่ง) วงเงิน 10,000 ล้านบาท เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการจัดสรรแบบ First-Come, First Served (มาก่อนได้รับสิทธิ์ก่อน) และจำกัดวงเงินซื้อ ไม่เกินรายละ 50 ล้านบาท

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ล่าสุด ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา ทั้งสิ้น 21,796,763 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 1,025,938 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 4,398,623 คน มาเลเซีย 3,021,624 คน อินเดีย 1,255,358 คน เกาหลีใต้ 1,153,990 คน และรัสเซีย 1,035,192 คน

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.08-35.17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/8) ที่ระหว่าง 1.0930/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/8) ที่ระดับ 1.0919/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ ไร้ปัจจัยสนับสนุนใหม่ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0919-1.0931 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0923/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/8) ที่ระดับ 147.34/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/8) ที่ระดับ 147.21/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ดัชนนิกเคอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดตลาดพุ่งขึ้นกว่า 3% ในวันนี้ (13/8) ทะลุระดับ 36,000 จุดเนื่องจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นตามหุ้นกลุ่มเดียวกันในตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อวานนี้ ตลอดจนได้แรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดุลลาร์สหรัฐ

โดยหุ้นเกือบทุกกลุ่มปิดบวก นำโดยกลุ่มประกัน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ส่วนกลุ่มเดียวที่ปิดลบคือกลุ่มขนส่งทางอากาศ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.33-14.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 144.89/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ค. (13/8), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.ค. (14/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (15/8) ยอดค้าปลีกเดือน ก.ค., ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือน ก.ค. (15/8), ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing) เดือน ส.ค.จากเฟดนิวยอร์ก (15/8),

ดัชนีการผลิตเดือน ส.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (15/8), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. (15/8),สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน มิ.ย. (15/8), ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ส.ค. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน ก.ค. (16/8), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ส.ค. (16/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.6/-9.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.85/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ