
ธนาคารยูโอบี ปรับกลยุทธ์ปล่อยสินเชื่อปี’67 รุกโฟกัสธุรกิจยั่งยืน-เจาะตลาดลูกค้าลงทุนไทย-อาเซียน เผยเห็นสัญญาณ FDI ธุรกิจอีวีจีน-อิเล็กทรอนิกส์ไต้หวันแห่ลงทุนไทย ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ารับเข้มปล่อยกู้
วันที่ 14 สิงหาคม 2567 นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Deputy CEO และ Wholesale Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อรายใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยอมรับว่ามีอัตราการเติบโตชะลอตัวเมื่อเทียบในช่วง 1-2 ปีก่อน ซึ่งสอดคล้องเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ดังนั้น การดำเนินธุรกิจในปี 2567 ธนาคารจึงต้องเติบโตอย่างระมัดระวัง และเลือกกลุ่มการเติบโตมากขึ้น (Selective) รวมถึงปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจที่มีปัจจัยความท้าทาย โดยจะมุ่งเน้นไปใน 2 กลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโต ได้แก่ สินเชื่อเกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainablelity) และการเชื่อมต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน (Connect Asean) ที่เห็นสัญญาณการลงทุนมากในประเทศเวียดนาม และจีนเข้ามาไทยมากขึ้น
โดยการเติบโตด้านสินเชื่อที่เกี่ยวกับความยั่งยืน หรือ Sustainable Financing Frameworks ที่ธนาคารมีเป้าหมายชัดเจนในการเข้าไปสนับสนุนภาคธุรกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยหากดูการเติบโตด้านสินเชื่อใหม่ปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่าธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เกี่ยวกับกรีนและความยั่งยืนถึง 25% หากเทียบกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งหมดของธนาคาร
ขณะที่การเชื่อมโยงกับตลาดภูมิภาคและการค้าโลก ธนาคารเห็นสัญญาณนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มซัพพลายเชนรถไฟฟ้า (อีวี) เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่เป็นฐานรากระดับท็อปของรถยนต์สันดาป (ICE) แต่จากรถอีวีมีการเติบโตมากขึ้น จึงเห็นผู้ผลิตจีนเข้ามาลงทุนโดยตรงในไทยหลายราย รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวันเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม และกระแสเงินทุนจากเกาหลีด้วย โดยนับตั้งแต่ปี 2566 ถึงปัจจุบันจะเห็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประเทศจีนแซงหน้าญี่ปุ่นแล้ว
“การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารจึงยังอยู่ในโหมดของการระมัดระวังและเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในอดีตที่ทำมา ภายใต้การปล่อยสินเชื่ออย่างรัดกุม ทำให้การปล่อยสินเชื่อโดยรวมของธนาคารอยู่ในเกณฑ์ดี และมียอดการผิดนัดชำระหนี้และหนี้เสียในพอร์ตลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และเอสเอ็มอีค่อนข้างต่ำหากเทียบกับตลาดโดยรวม เพราะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ธนาคารรู้อยู่แล้วว่าลูกค้ามีประเด็นปัญหาด้านสภาพคล่องและขายสินค้ายากขึ้น จึงเข้าไปช่วยเหลือใกล้ชิด“
นางวีระอนงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานผลสำรวจ Business Outlook Study ของธนาคาร เกี่ยวกับเทรนด์ที่น่าสนใจในหมู่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ของไทย พบว่ามี 3 เทรนด์ที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.ความสนใจที่เพิ่มขึ้นด้านการขยายการเติบโตในต่างประเทศ ธุรกิจไทยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโตระหว่างประเทศ โดยเกือบ 90% มีเป้าหมายที่จะขยายตลาดไปต่างประเทศภายในสามปีข้างหน้า อาเซียนและจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะเวียดนาม เป็นเป้าหมายหลักสำหรับการเติบโตนี้
2.ธุรกิจยังมีข้อจำกัดในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน จากผลสำรวจ แม้ว่ากว่า 90% ของธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน แต่มีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้นำแนวปฏิบัติเหล่านี้ไปใช้
3.การดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การนำดิจิทัลมาใช้ยังคงอัตราที่สูงในหมู่ธุรกิจไทย โดยเกือบ 40% ได้นำโซลูชั่นดิจิทัลมาใช้ในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน ซึ่งเกินค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาค การปรับสู่ดิจิทัลได้เพิ่มการเข้าถึงลูกค้า สร้างประสบการณ์อันดีแก่ลูกค้า และเพิ่มความเร็วในการเข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม การปรับใช้ดิจิทัลกับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน และการจัดการคู่ค้ายังคงตามหลังอยู่
“ในปีที่ผ่านมาเราปล่อยสินเชื่อเกี่ยวกับความยั่งยืนไปแล้ว 3.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าหลังจากนี้จะผลักดันเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการสนับสนุนผ่าน Taxonomy ซึ่งเรามี 6 อุตสาหกรรมหลักใน 2 เซ็กเตอร์หลัก”