
ดอลลาร์อ่อนค่า ขานรับตัวเลขเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด
วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/8) ที่ระดับ 34.88/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/8) ที่ระดับ 35.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการแข็งค่าที่สุดของค่าเงินบาทในรอบ 7 เดือน
โดยปัจจัยหลักมาจากข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ (13/8) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.3% และต่ำกว่าเดือน มิ.ย.ที่ระดับ 2.7%
อีกทั้งดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.4% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.7% หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือน มิ.ย. หนุนให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือน ก.ย.
โดยเครื่องมือ FedWatch Tool จาก CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 55% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.50% ในเดือน ก.ย. หลังจากการเปิดเผยตัวเลขดัชนี PPI ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำกว่า 50% ก่อนที่จะมีการเปิดเผยดัชนี PPI
ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในคืนวันพุธ (14/8) และายงานยอดค้าปลีกประจำเดือน ก.ค. ในวันพฤหัสบดี (15/8) เพื่อหาสัญญาณที่แน่ชัดเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือน ก.ย.
อีกทั้งวันนี้ (14/8) ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 5.25% ในการประชุมนโยบายการเงินวันนี้ ซึ่งเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2563 สวนทางกับคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่คาดว่า RBNZ จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.50% เนื่องจาก RBNZ ระบุว่าดัชนี CPI ของนิวซีแลนด์กำลังกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ RBNZ ที่ระดับ 1%-3% เมื่อเทียบรายปี และคาดว่าดัชนี CPI จะเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 2% ในอนาคต
สำหรับปัจจัยภายในประเทศวันนี้ (14/8) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยคดีถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ผู้เคยถูกพิพากษาโทษจำคุก เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ให้นายเศรษฐาพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติด้านความซื่อสัตย์สุจริต ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง เนื่องจากนายเศรษฐาย่อมต้องรู้คุณสมบัติต้องห้ามของนายพิชิตตั้งแต่ก่อนแต่งตั้งแล้ว ไม่สามารถอ้างว่าไม่ทราบได้
อีกทั้งเมื่อนายเศรษฐาพื้นจากสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ทั้งนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าแตะระดับ 35.84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัยประมาณ 20 นาที และได้ทยอยปรับตัวอ่อนค่าขณะที่ศาลกำลังอ่านคำวินิจฉัย ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 35.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนนายเศรษฐาจากการเป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.84-35.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันพุธนี้ (14/8) ที่ระดับ 1.0995/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/8) ที่ระดับ 1.0923/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ ไร้ปัจจัยสนับสนุนใหม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0985-1.1026 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1025/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/8) ที่ระดับ 146.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/8) ที่ระดับ 147.89/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (14/8) นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงต่อสื่อมวลชนว่าเขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ในเดือน ก.ย. และจะก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อพรรคมีการเลือกผู้นำคนใหม่
อีกทั้งยังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนผู้นำพรรคคนใหม่อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ที่เขาดำรงตำแหน่งในช่วงผลักดันให้เพิ่มค่าจ้างและเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.07-147.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.10/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.ค. (14/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (15/8), ยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. (15/8), ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือน ก.ค. (15/8), ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน ส.ค. จากเฟดนิวยอร์ก (15/8), ดัชนีการผลิตเดือน ส.ค. จากเฟฟิลาเดลเฟีย (15/8),
การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. (15/8), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน มิ.ย. (15/8), ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ส.ค. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) (15/8), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน ก.ค. (16/8), และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ส.ค. (16/8)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.2/-8.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.9/-7.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ