
“อมรเทพ” ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้ มติคำตัดสินนายกฯพ้นตำแหน่ง กระทบเศรษฐกิจไทย 4 ด้าน ห่วงงบประมาณล่าช้า-ความเชื่อมั่นผู้บริโภค-การลงทุนต่างประเทศสะดุด มองเป็นความเสี่ยงขาลงเศรษฐกิจไทย
วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงประเด็นหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 เสียง ให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะรัฐมนตรียกชุดนั้น มองว่า ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองดังกล่าวสร้างความเสี่ยงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วยกัน 4 ด้าน คือ
1.ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เนื่องจากคำตัดสินดังกล่าวทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตหายไป ทำให้ประชาชนเกิดความระมัดระวังในการใช้จ่ายในระยะสั้นนี้
2.นโยบายของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะต้องรอติดตาม ครม.ชุดใหม่ว่านโยบายต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะวันนี้ภาคเอกชนรอนโยบายด้านการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะต้องรอดูว่าหลังจากมีการฟอร์มทีม ครม.ชุดใหม่ และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นมองว่าน่าจะไม่มีการข้ามขั้วและใช้เวลาไม่นาน ทำให้ยังมีความต่อเนื่องของนโยบาย
3.งบประมาณภาครัฐ เป็นสิ่งที่ให้ความเป็นห่วงมาก เนื่องจากงบประมาณจะมีความล่าช้าออกไปไม่ทัน 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาเพื่อให้ ครม.ชุดใหม่พิจารณาและกลับมาดูใหม่ ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุน เพราะจะเห็นว่าภาคเอกชน ภาคการก่อสร้างและบ้านที่ปัจจุบันกำลังมีปัญหามีความต้องการภาครัฐเข้ามาช่วยกระตุ้น ทำให้ส่วนนี้หายไป
4.ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศ จะเห็นว่าหุ้นไทยปรับลดลงต่อ ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวและความไม่แน่นอนทางการเมืองจะทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจและรอดูสถานการณ์ (Wait & See) ทำให้ไทยอาจตกขบวนการลงทุนได้ เพราะนักลงทุนจะหันไปลงทุนในประเทศอื่นในภูมิภาคแทน เช่น อินโดนีเซีย หรือ มาเลเซีย เป็นต้น ดังนั้น การสื่อสารก็เป็นเรื่องสำคัญจะต้องสื่อใหันักลงทุนต่างชาติเห็นว่าคำตัดสินเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยของประเทศไทย
“เราคาดการณ์ว่ากระบวนการจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่และสรรหานายกฯคนใหม่จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งอาจทำให้งบประมาณล่าช้าออกไปอีก แต่คงไม่ถึงขั้นปรับจีดีพี โดยเศรษฐกิจยังฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก แต่จะห่วงระยะยาวว่าจะมีแรงส่งการฟื้นตัวจะช้าไป และเศรษฐกิจโลกแผ่ว ทำให้มีความเสี่ยงขาลงมากกว่าคาด