ดอลลาร์เคลื่อนไหวไร้ทิศทาง จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ราคาทองคำ นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐต่อไป รวมถึงปัจจัยการเมืองในประเทศ
วันที่ 15 สิงหาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (15/8) ที่ระดับ 35.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (14/8) ที่ระดับ 34.91/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าฟื้นตัว หลัง Dollar Index ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 102.60 โดยดอลลาร์สหรัฐร่วงลงในวันช่วงแรกหลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.ค.ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ และจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก่อนที่ดอลลาร์สหรัฐจะฟื้นตัวขึ้น จากมุมมองที่ว่าเงินเฟ้อสหรัฐมีสัญญาณชะลอตัวลง และตลาดคลายกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพียง 0.25% ในการประชุมเดือน ก.ย.น่าจะเพียงพอ เนื่องจากก่อนหน้านี้ นักลงทุนเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน ก.ย. จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
ด้านตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือน ก.ค. ระบุว่าดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.9% YOY ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 3.0% หลังจากปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือน มิ.ย. และปรับตัวขึ้น 0.2% MOM ในเดือน ก.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ หลังปรับตัวลง 0.1% ในเดือน มิ.ย.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.2% YOY ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์จากระดับ 3.3% ในเดือน มิ.ย. และปรับตัวขึ้น 0.2% MOM ในเดือน ก.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์จากระดับ 0.1% ในเดือน มิ.ย.
ด้านปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดวานนี้ (14/8) จากการฟื้นตัวของดอลลาร์สหรัฐ และการร่วงลงของราคาทองคำ หลังวานนี้เงินบาทปรับตัวแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนใกล้ระดับ 34.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะทำให้เงินบาทปรับตัวผันผวนและลดช่วงแข็งค่าลง
อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐต่อไป รวมถึงปัจจัยการเมืองในประเทศว่าใครจะมาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.96-35.18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/8) ที่ระดับ 1.1007/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (14/8) ที่ 1.1020/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้ (15/8) สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอังกฤษขยายตัว 0.6% ในไตรมาส 2/2567
ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ หลังจากที่มีการขยายตัว 0.7% ในไตรมาส 1 โดยข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ถึงการฟื้นตัว หลังจากที่เศรษฐกิจอังกฤษถดถอยเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566
ทั้งนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ปี 2567 ขึ้นสู่ระดับ 1.25% จากระดับ 0.5% เนื่องจากเศรษฐกิจอังกฤษทำผลงานในช่วงต้นปีได้แข็งแกร่งเกินคาด
ด้านนายเคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ระดับ 2.5% ในช่วงที่เขารณรงค์หาเสียงเลืออกตั้งเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการเงินในปี 2551 เศรษฐกิจอังกฤษยังไม่สามารถขยายตัวที่ระดับดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1003-1.1016 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1012/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้านี้ (15/8) ที่ระดับ 147.35/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (14/8) ที่ 147.13/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้ (15/8) มีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น ขยายตัวสูงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ในไตรมาสที่ 2 โดย GDP ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 0.5% และเมื่อเทียบเป็นรายปี GDP เพิ่มขึ้น 3.1% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ไว้อย่างมาก ที่ระดับ 2.1%
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่า GDP ญี่ปุ่นจะแข็งแกร่งในไตรมาสที่ 2 แต่หดตัวเมื่อเทียบเป็นรายปีเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน โดยปรับตัวลดลง 0.8% จากที่หดตัว 0.9% ในไตรมาสที่ 2 ทางด้านนักวิเคราะห์ชี้ว่า BOJ อาจดำเนินนโยบายเข้มงวดต่อไป
ด้านนายจุน ไซโตะ นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ตัวเลข GDP ญี่ปุ่นดังกล่าวนับเป็นข้อมูลเชิงบวกที่ดีมาก และจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้นตามปฏิกิริยาของตลาด
ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.06-147.61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.36/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (15/8), ยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. สหรัฐ (15/8), ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือน ก.ค. สหรัฐ (15/8), ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน ส.ค. จากเฟดนิวยอร์ก (15/8), ดัชนีการผลิตเดือน ส.ค. (15/8),
การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.สหรัฐ (15/8), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน มิ.ย. (15/8), ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ส.ค. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) สหรัฐ (15/8), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน ก.ค. สหรัฐ (16/8) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ส.ค. สหรัฐ (16/8)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.15/-9.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.0/-8.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ