มุมมองนักการเงินชูแก้เศรษฐกิจ-ดึงต่างชาติ

pipat
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า หลังจากถอดถอนนายเศรษฐา คนก็จะกังวลว่าจะใช้เวลาอีกนานหรือไม่ กว่าจะมีนายกฯ คนใหม่ กว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้ แต่เมื่อเห็นว่าใช้เวลาแค่ 2 วัน มีเสนอชื่อนางสาวแพทองธารขึ้นมา แล้วหน้าตารัฐบาล พรรคร่วมก็น่าจะเหมือนเดิม อย่างน้อยก็น่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายแบบแรง ๆ ซึ่งตรงนี้เป็นข้อดี แต่สุดท้ายก็ต้องไปพิสูจน์ในทางปฏิบัติกันต่อ

เงินดิจิทัลต้องปรับรูปแบบ

ดร.พิพัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทนั้น คงต้องปรับรูปแบบการดำเนินนโยบาย เพราะหากยืนยันทำแบบเดิมต่อไปจะมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากมีหนังสือท้วงติงจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาแล้ว และหากฟังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินถอดถอนนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริต จะสะท้อนได้ว่าหากทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงไปก็เป็นความเสี่ยง แม้จะไม่ใช่เรื่องทุจริตก็ตาม

“ข้อดีคือเรื่องแหล่งเงินทำเสร็จไปแล้ว อยู่ในงบประมาณแล้ว เป็นงบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเปลี่ยนรูปแบบ เอาไปทำอย่างอื่น อาจจะแจกเหมือนเดิม แต่ลดขนาดวงเงินลง ผมยกตัวอย่างขำ ๆ ว่า ถ้าทำคนละครึ่งก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร”

เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ

การกระตุ้นเศรษฐกิจยังจำเป็น เพราะถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจขณะนี้ก็มีปัญหาค่อนข้างมาก โดยตัวเลขการบริโภคในประเทศก็เริ่มแผ่ว ขณะที่หนี้ครัวเรือนก็อยู่ในระดับสูง การจับจ่ายก็เริ่มชะลอ อย่างไรก็ดี นอกจากกระตุ้นระยะสั้น ต้องแก้ปัญหาระยะยาวด้วย เพราะหากไปกระตุ้นระยะสั้นด้วยเงินจำนวนมาก ก็จะไม่มีเงินไปแก้ปัญหาระยะยาว

“ฉะนั้น ถ้าจะให้ดีต้องกระตุ้นระยะสั้นในปริมาณที่เหมาะสม ให้กลุ่มที่เหมาะสม แล้วไปดูว่าปัญหาที่ควรแก้ไขในระยะยาว ผมว่านี่เป็นโจทย์ที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมานโยบายนี้คิดมาเพื่อกระตุ้นเร็ว แต่นี่ก็ผ่านมาเป็นปีแล้วยังไม่ได้ทำ ก็ควรคิดออกแล้วว่าจะเอาไปทำอะไรดี”

โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่ต้องแก้

ดร.พิพัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ต้องพิจารณา ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติอยากเห็น ก็คือ 1.ไทยจะทำอย่างไรกับปัญหาเชิงโครงสร้างด้านเศรษฐกิจที่มีอยู่ จะปฏิรูปอย่างไร อย่างประเทศจีน ก็จะพูดชัดว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจเรื่องอะไร รวมถึงญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้กระทั่งมาเลเซียก็จะมีแผน แต่ของไทยยังไม่มีเรื่องนี้ชัด ๆ ซึ่งจะต้องกำหนด Agenda โฟกัสลงไปว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะทำอะไรบ้าง แผนการปฏิรูปถ้าออกมา ผมว่านักลงทุนต่างชาติเขาอยากเห็น เพื่อจะได้สามารถคาดการณ์ พยากรณ์ทิศทางต่าง ๆ อะไรได้

ADVERTISMENT

2.การเมือง ที่มีความไม่แน่นอน สร้างความกังวลให้นักลงทุน โดยในอดีตแม้ไทยจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่นักลงทุนจะไม่ค่อยกังวล แต่พอไทยแย่ติดต่อกันมาเป็น 10 ปี นักลงทุนก็เริ่มมีคำถามแล้วว่า เขาต้องทนต่อไปไหม เพราะเดี๋ยวก็มีรัฐประหาร เดี๋ยวก็มียุบพรรคการเมือง หรือพรรคที่ชนะเลือกตั้ง หรือการที่พรรคที่ชนะเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล ทำให้การคาดเดาความต่อเนื่องของนโยบายได้ยาก

“ประเทศอื่น ๆ เขาก็พอเดาได้ว่า ถ้าเลือกตั้งแล้วพรรคนี้มานโยบายจะเป็นอย่างไร หรืออีกพรรคหนึ่งมาจะเป็นอย่างไร แต่ของเราคาดเดาไม่ได้เลย หรือแม้กระทั่งเรื่องการกำกับดูแล”

ADVERTISMENT

ต้องดูแลเรื่องธรรมาภิบาล

ประเด็นที่ 3.ราคาน้ำมัน ตอนมีการตรึงราคา มองว่าควรเป็นเรื่องภาระการคลังที่เพิ่มขึ้น แต่วันดีคืนดี เรามีขอบริจาคจากบริษัทน้ำมัน หรือที่จะปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน จะไปปรับที่โรงกลั่น นักลงทุนก็บอกว่าตอนลงทุนทีแรกไม่ได้บอกไว้อย่างนี้ กลายเป็นความเสี่ยงจากนโยบายกำกับที่ไม่แน่นอน เต็มไปหมด”

และ 4.เรื่องธรรมาภิบาลของธุรกิจ ซึ่งต่างประเทศเวลามาลงทุน ก็จะเชื่อมั่นในการเปิดเผยข้อมูล เชื่อมั่นในระบบธรรมาภิบาล ว่าจะดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น หรือถ้ามีปัญหา ทางการก็จะเข้ามาจัดการ แต่ที่ผ่านมา ก็มีทั้งกรณีการโกง ทำบัญชีปลอม การไซฟอนเงิน ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานในการจัดการปัญหา ทำให้นักลงทุนต่างชาติตั้งคำถาม ว่าจะเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทยได้แค่ไหน

เร่งสร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ

“ถ้ามีปัญหาเยอะมาก เขาก็ตั้งคำถามว่า เขายังจำเป็นต้องลงทุนในไทยไหม ซึ่งจะต่างจากเมื่อก่อนที่เศรษฐกิจไทยโตดี ๆ ถึงจะมีปัญหา นักลงทุนก็ไม่ไปไหน แต่ในวันที่การเติบโตก็ไม่ดี กำไรก็แย่ แถมปัญหาเยอะ เขาก็ตั้งคำถามว่าควรอยู่ต่อไปไหม โดยโจทย์เหล่านี้ต้องเร่งแก้ ถึงจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างประเทศกลับมาได้ คือวันนี้ต้องยอมรับด้วยว่าเรามีคู่แข่งเยอะขึ้น อย่าง 8 ปีที่แล้วคนอาจจะไม่ได้สนใจอินโดนีเซีย มาเลเซีย แต่พอเขามีการปฏิรูป ก็ถูกพูดถึงมากขึ้น ดังนั้น ถ้าเราจะทำเหมือนเดิม เราก็เหนื่อย” ดร.พิพัฒน์กล่าว