
บาทแข็งค่าหลังราคาทองคำทำระดับสูงสุดใหม่
วันที่ 19 สิงหาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/8) ที่ระดับ 34.58/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 34.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ วันศุกร์ที่ผ่านมา (16/8) ค่าเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่า
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านปรับลง 6.8% สู่ระดับ 1.24 ล้านยูนิตในเดือน ก.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.34 ล้านยูนิต จากระดับ 1.33 ล้านยูนิตในเดือน มิ.ย. โดยตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาบ้านและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านลดลง 4% สู่ระดับ 1.39 ล้านยูนิตในเดือน ก.ค. และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 1.43 ล้านยูนิต จากระดับ 1.45 ล้านยูนิตในเดือน มิ.ย.
ด้านผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 67.8 ในเดือน ส.ค. สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 66.9 จากระดับ 66.4 ในเดือน ก.ค. ด้านเฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.4% ในไตรมาส 3/2567
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังได้รับแรงหนุนจากราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำระดับสูงสุดครั้งใหม่ ที่ระดับ 2,509.59 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ โดยได้รับแรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง จากการคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือน ก.ย. นอกจากนี้ความตึงเครียดในตะวันออกกลางได้หนุนความต้องการทองคำเพิ่มเติม
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วานนี้ (18/8) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย ได้รับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 โดยประกาศสานต่อนโยบายเศรษฐกิจและผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้สำเร็จลุล่วง อีกทั้งขอให้ทุกคนได้ติดตามการแถลงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมได้ในเดือนกันยายนนี้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดจะคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะสุญญากาศทางการเมืองของไทยหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เงินบาทอาจเผชิญกับแรงกดดัน ท่ามกลางกระแสข่าวว่ารัฐบาลชุดใหม่อาจจะยกเลิกโครงการดิจิทัลวอลเลตมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์
วันนี้ (19/8) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2567 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3% ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา และเมื่อปรับตามฤดูกาลแล้วเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 0.8%
โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของการบริโภคเอกชนและภาครัฐบาล, การส่งออก และภาคบริการ แต่การลงทุนรวมยังคงชะลออยู่ 6.2% ทั้งนี้คาดว่า GDP ในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 2.5% ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.35-34.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/8) ที่ระดับ 1.1022/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 1.0988/89 ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนให้ความสนใจไปที่การกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ที่แจ็กสันโฮลในวันศุกร์นี้ (23/8) ทั้งนี้ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1021-1.1035 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1035/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/8) ที่ระดับ 147.65/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 148.47/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (19/8) สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.1%
ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นตัวบ่งชี้การใช้จ่ายด้านการลงทุนในอีก 6-9 เดือนข้างหน้าจะไม่นับรวมยอดสั่งซื้อสำหรับการต่อเรือและซ่อมแซม รวมถึงการผลิตพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มผันผวนสูง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานปรับลดลง 1.7% ในเดือน มิ.ย. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.8% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.18-148.05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 146.36/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ก.ค.จาก Conference Board (19/8), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (21/8), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค. (21/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (22/8), ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน ก.ค.จากเฟดชิคาโก (22/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคการบริการขั้นต้นเดือน ส.ค.จากเอสแอนด์พี โกลบอล (22/8), ยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.ค. (22/8),
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมแจ็กสันโฮล (23/8), ยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.ค. (23/8) นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน, อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น, ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือน ส.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐ
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.6/-9.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.2/-9.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ