
บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต เผยครึ่งปีหลังจ่อลงทุนสตาร์ตอัพผ่านกองทุน “Finnoventure Fund” ในต่างประเทศเพิ่มอีก 3-4 ราย หลังลงทุนไปแล้ว 16 ราย เม็ดเงิน 1.5 พันล้านบาท ล่าสุดควัก 200 ล้านบาทร่วมกับ บริษัท อีฟราสตรัคเจอร์ เปิดตัวกองทุน “FinnoEfra” ระดมทุนกว่า 1.3 พันล้านบาท เจาะสตาร์อัพไทย-อาเซียน รุกเซ็กเตอร์ “Digital Transformation”
วันที่ 19 สิงหาคม 2567 นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนในเทคสตาร์ตอัพในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 การลงทุนในสตาร์ตอัพไทยอาจจะไม่มีแล้ว แต่จะมีลงทุนในต่างประเทศอีก 3-4 ราย โดยจะมีประกาศลงทุนในอินโดนีเซีย 1 ราย หลังจากลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว 1 ราย ฟิลิปปินส์ 1 ราย และเวียดนาม 1 ราย
โดยภาพรวมการลงทุนภายใต้กองทุน “Finnoventure Fund” บริษัทลงทุนไปแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท ลงทุนในสตาร์ตอัพ 16 ราย จากวงเงินกองทุนทั้งสิ้นอยู่ที่ 2,600 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปี 2567 จะลงทุนในสตาร์ตอัพเพิ่มเป็น 20 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในฟินเทค และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เฉลี่ยการลงทุนจะอยู่ที่ 200-300 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในส่วนของ “Finnoventure Fund” นับตั้งแต่ลงทุนมากว่า 2 ปี จากระยะเวลากองทุน 10 ปี ปัจจุบันมีอัตราผลตอบแทนภายในที่คำนวณจากการลงทุน (Internal Rate of Return : IRR) อยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี หรือ NAV 110% ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าตัวเลข IRR จะทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 15% ต่อปี หรือ NAV 150% ในช่วงหลังจากนี้
“ภาพรวมครึ่งปีแรกมีการลงทุนใน Ascend Money ไปแล้ว แต่เป็นของบริษัทแม่ MUFG ซึ่งกำลังดูมาจะช่วยเสริมศักยภาพอะไรได้บ้าง ส่วนสตาร์ตอัพไทยเราลงทุนไปหมดแล้ว ครึ่งปีหลังจึงจะเป็นต่างประเทศส่วนใหญ่ ส่วนในกองทุน Finnoventure Fund ที่ลงทุนไปแล้ว 16 ราย ถือว่าเติบโตได้ดี”
ล่าสุด บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กองทุน และ บริษัท อีฟราสตรัคเจอร์ จำกัด เปิดตัวกองทุน Finno Efra Private Equity Trust หรือ FinnoEfra โดยเป็นกองทุนขนาดประมาณ 1,300 ล้านบาท หรือประมาณ 35 ล้านดอลลาร์ ระยะเวลาลงทุน 4 ปี ตั้งเป้าลงทุนในสตาร์ตอัพที่อยู่ในช่วง Seed ถึง Pre-series A เป็นหลัก และอยู่ในกลุ่ม Digital Transformation เช่น People Tech, Agri Tech, Health Tech, Mobility Tech และ Ed Tech เป็นต้น
ทั้งนี้ ตั้งเป้าลงทุนในสตาร์ตอัพ 50 ราย แบ่งเป็นการลงทุนในไทยประมาณ 60% และในอาเซียนอีก 40% เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย เป็นต้น โดยปัจจุบันมีอยู่ระหว่างพูดคุยในการลงทุนแล้ว 3-4 ราย เช่น อินโดนีเซีย จะเป็นสตาร์ตอัพเกี่ยวกับ Ma Tech เป็นต้น ซึ่งโดยเฉลี่ยการลงทุนจะอยู่ 500,000 ดอลลาร์ต่อราย เฉลี่ยจะอยู่ที่ 200-300 ล้านบาทต่อปี คาดว่าในปี 2567 จะลงทุนได้ราว 100 ล้านบาท เนื่องจากเพิ่งเปิดกองทุน
โดยเม็ดเงินในการระดมทุนในกองทุน FinnoEfra จะมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ เงินลงทุนจาก กรุงศรี ฟินโนเวต 200 ล้านบาท และลูกค้าขนาดใหญ่หรือพันธมิตร (Partner) ของธนาคารกรุงศรีฯ และผู้ลงทุนรายย่อยที่มีสินทรัพย์สูง (HNW) ผ่าน บลจ.วรรณ ลูกค้าสามารถลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนบาท
สำหรับความคาดหวังอัตราผลตอบแทน IRR ควรจะอยู่ที่ 15% ต่อปี และเป้าหมายการลงทุนสตาร์ตอัพใน 50 ราย ตั้งเป้าโอกาสรอดจะอยู่ที่ 30% จากที่ค่าเฉลี่ยระบบที่ผ่านมาอยู่ที่ 5% ส่วนหนึ่งที่คาดว่าโอกาสรอดสูง เนื่องจากกองทุนนี้จะมี Accelerator และ Incubator ซึ่งจะเป็นจิกซอว์สำคัญที่จะทำให้สตาร์ตอัพรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นและเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้สตาร์ตอัพประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
“การลงทุนในสตาร์ตอัพผ่านกองทุน FinnoEfra เราจะลงทุนเพียง 4 ปี และอีก 4 ปีให้เขาบริหารจัดการเอง ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO) ทุกตัว แต่สตาร์ตอัพสามารถรอดได้ 2 สเต็ปก็ถือว่าค่อนข้างดีแล้ว”
นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า บลจ.วรรณ เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพมาอย่างต่อเนื่อง และในฐานะนักลงทุนสถาบันพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว
“การร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับตลาดทุนไทย และเพิ่มความหลากหลายให้กับสินทรัพย์ทางเลือก จากเดิมมักจำกัดอยู่ในตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือสินค้าโภคภัณฑ์อีกทั้งที่ผ่านมา บลจ.วรรณ มีความมุ่งมั่นที่จะนำร่องผลิตภัณฑ์การลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ มาโดยตลอด เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกในการลงทุน และไม่พลาดโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ” นายพจน์กล่าว
ทั้งนี้ บลจ.วรรณ เตรียมนำเสนอขายกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนใน กองทุน Finno Efra Private Equity Trust ซึ่งเป็นกองทุนรวมแรกของประเทศไทยที่ลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ Pre-Series A เพื่อรองรับความต้องการลูกค้าประเภทกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UI) ลงทุนขั้นต่ำเริ่มต้นเพียง 500,000 บาท โดยคาดว่าจะเปิดเสนอขายครั้งแรกพร้อมกองทรัสต์ อย่างไรก็ดี ขณะนี้กองทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท อีฟราสตรัคเจอร์ จำกัด กล่าวว่า นอกเหนือจากเรื่องการลงทุนที่มีอย่างจำกัดแล้ว อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ หลักสูตรหรือโปรแกรมที่ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้คำปรึกษา และบ่มเพาะสตาร์ตอัพรายใหม่ ๆ ลดน้อยลงไปมาก ซึ่งจริง ๆ แล้วมองว่า Accelerator และ Incubator คือจิกซอว์สำคัญที่จะทำให้สตาร์ตอัพรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นและเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้สตาร์ตอัพประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
อีกทั้งยังเป็นเสมือนตัวเชื่อมระหว่างผู้ลงทุนและสตาร์ตอัพได้เป็นอย่างดี ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับกองทุน Finno Efra คือ กรุงศรี ฟินโนเวต และอีฟราสตรัคเจอร์ จะร่วมกันทำ Finno Efra Accelerator Program เปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพที่สนใจสมัครเข้ามาเรียนรู้ โดยเราจะใช้เครือข่าย ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่มีสร้างให้หลักสูตรนี้ครอบคลุมในทุก ๆ มิติที่สำคัญสำหรับสตาร์ตอัพ ออกแบบหลักสูตรให้สตาร์ตอัพที่เข้ามาได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่