สัญญาณอันตราย ลงทุนเอกชน “หดตัว” สภาพัฒน์เสนอ 8 นโยบายเร่งด่วน

engineer
คอลัมน์ : นอกรอบ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่สองของปี 2567 ระบุว่า ขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจากการเติบโต 1.6% ในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2567 ขยายตัวจากไตรมาสแรก 0.8% (QOQ) รวมครึ่งแรกของปี 2567 ขยายตัว 1.9%

แน่นอนว่าเป็นการเติบโตที่ต่ำสุดในอาเซียน โดยในไตรมาส 2/67 เวียดนามยังคงมีการเติบโตสูงสุด 6.93% ตามมาด้วย ฟิลิปปินส์โต 6.30% มาเลเซียโต 5.90% อินโดนีเซีย 5.05% และสิงคโปร์ 2.9%

สภาพัฒน์ระบุว่า ปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยมาจากการอุปโภคภาครัฐบาล การส่งออกสินค้าและบริการ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐปรับตัวลดลง

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 4.0% ชะลอลงจาก 6.9% ในไตรมาสก่อน โดยการใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัว 6.0% ชะลอลงจาก 13.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอลงของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร กลุ่มบริการทางการเงิน การบริการด้านการศึกษา และกลุ่มสถานบันเทิงอื่น ๆ

ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง 6.5% ต่อเนื่องจากการลดลง 6.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจชะลอการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงที่การแข่งขันด้านราคามีความรุนแรงมากขึ้น การใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว 4.3% ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ และการใช้จ่ายกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า

สัญญาณอันตรายลงทุนหดตัว

ขณะที่ตัวเลขการลงทุนรวม ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม 6.2% โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 6.8% เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส เทียบกับการขยายตัว 4.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการลงทุนในหมวดเครื่องจักร เครื่องมือ 8.1% เป็นผลจากการลงทุนในหมวดยานพาหนะลดลง 22.5% ต่อเนื่อง จากการลงทุนลดลง 19.5% ในไตรมาสก่อนหน้า และสอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวเพียง 0.4% ชะลอลงจากการขยายตัวในเกณฑ์สูง 24.6% ในไตรมาสก่อนหน้า

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ในหมวดการก่อสร้าง การลงทุนก็ลดลงครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส โดยหดตัว 2.2% เทียบกับการขยายตัว 5.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ เป็นผลจากการลดลงของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย 7.4% เทียบกับการขยายตัว 1.6% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของสินเชื่อครัวเรือน และมาตรฐานสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ประกอบกับราคาที่อยู่อาศัยใหม่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ลดลง 10.4% เทียบกับการขยายตัว 3.0% ในไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่การก่อสร้างโรงงานขยายตัวร้อยละ 20.8 ชะลอลงจาก 35.1% ในไตรมาสก่อนหน้า การปรับตัวลดลงของการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสนี้สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ

ADVERTISMENT

ที่ระดับ 48.0 จากระดับ 48.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 รวมครึ่งแรกของปี 2567 การลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.9%

สำหรับการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง 4.3% เทียบกับการลดลง 27.7% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลลดลง 12.8% ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 10.1%

ส่งออกยังอ่อนแรง

ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 73,315 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.5% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 1.1% โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 2.7% ตามการขยายตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร

ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 1.7% โดยกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว (53.0%) ยางพารา (37.3%) คอมพิวเตอร์ (147.9%) อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (58.5%) ยานยนต์ (3.3%) และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (22.5%) เป็นต้น

และกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น ทุเรียน (ลดลง 1.0%) ตามปริมาณการส่งออกไปยังตลาดจีนที่ยังชะลอตัว, น้ำตาล (ลดลง 26.3%) ผลิตภัณฑ์ยาง (10.5%) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ลดลง 14.5%) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ลดลง 0.6%) และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ลดลง 12.8%) เป็นต้น ขณะที่การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 67,777 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.2% ชะลอลงจาก 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า

แนวโน้มเศรษฐกิจ ปี 2567

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.3-2.8% (ค่ากลางการประมาณการ 2.5%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก 1) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว 2) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ 3) การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และ 4) การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และ 0.3% ตามลำดับ

เสนอ 8 นโยบายสำคัญเร่งด่วน

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ได้เสนอหลักการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรให้ความสำคัญ 8 นโยบายหลัก ดังนี้

1.การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ

2.การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงเร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ และเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง

3.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม ด้วยมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า และดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย

4.การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs

5.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ไม่ให้เกิดความล่าช้า

6.เตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ลานีญาและเอลนีโญ

7.เร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM 2.5) และการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวสำคัญ

8.เตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์ จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก อาทิ ความรุนแรงของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก