วิจัยกรุงศรี คงจีดีพีปี’67 ขยายตัว 2.4% จับตานโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัวต่อเนื่อง อานิสงส์ภาคการท่องเที่ยวไฮซีชั่น-แรงส่งการใช้จ่ายภาครัฐ ส่วนการลงทุนฟื้นตัวช้า เหตุนักลงทุนรอดูสถานการณ์ทางการเมือง-ทิศทางนโยบายการบริหารงานรัฐบาลชุดใหม่ พร้อมคงจีดีพีทั้งปี’67 อยู่ที่ 2.4%

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี ระบุว่าจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2567 เติบโต 2.3% YOY และ 0.8% QOQ แม้ส่งออกขยับขึ้น แต่การบริโภคชะลอลงและการลงทุนยังหดตัว สภาพัฒน์รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองของปีนี้ขยายตัว 2.3% (นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ 2.1% และ 1.9% YOY ตามลำดับ) เทียบกับขยายตัวที่ 1.6% ใน 1Q67

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การปรับดีขึ้นของการส่งออกสินค้าและบริการ 2.การขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการบริโภคเอกชน (แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน) และ 3.การกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีของการบริโภคภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐหดตัว ล่าสุดสภาพัฒน์ยังคงคาดการณ์ GDP ปีนี้ขยายตัวที่ 2.5% จากกรอบคาดการณ์เติบโตในช่วง 2.3-2.8% โดยปรับกรอบแคบลงเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.0-3.0%

สภาพัฒน์รายงาน GDP ใน 2Q67 ที่ปรับผลของฤดูกาลออกขยายตัวที่ 0.8% QOQ ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดที่ 0.9% และ 0.7% ตามลำดับ แต่นับว่าชะลอลงเมื่อเทียบกับ 1.2% ใน 1Q67 ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 GDP เติบโตอยู่ที่ 1.9% YOY

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี วิจัยกรุงศรีประเมินเศรฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีที่จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ประกอบกับแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าอาจฟื้นตัวช้า เนื่องจากนักลงทุนยังรอดูสถานการณ์ทางการเมืองและทิศทางนโยบายในการบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ บวกกับภาคส่งออกของไทยที่เผชิญแรงกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ

Advertisment

รวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาตร์ที่ยืดเยื้อ และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน โดยภาพรวมวิจัยกรุงศรีมีแนวโน้มยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้จะขยายตัวเพียง 2.4% โดยยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการแถลงนโยบายเศรษฐกิจ

ความกังวลภาวะสุญญากาศทางการเมืองลดลงหลังจากได้นายกรัฐมนตรีใหม่อย่างรวดเร็ว แต่ยังต้องติดตามการแถลงนโยบายเศรษฐกิจ จากเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 มีคำวินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ มีผลตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม

Advertisment

และต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม การประชุมสภาผู้แทนราษฏรได้มีการโหวตเลือก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 319 เสียง ไม่เห็นชอบ 145 เสียง และงดออกเสียง 27 เสียง

วิจัยกรุงศรีประเมินในกรณีฐานภายใต้การจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ได้เร็วซึ่งเป็นฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเดิมและมีเสียงข้างมากราว 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร จะทำให้การผลักดันนโยบายต่าง ๆ และการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 (วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท) อาจไม่เกิดความล่าช้า จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้อาจมีจำกัด

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการแถลงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะสามารถช่วยหนุนการบริโภค กระตุ้นการลงทุน หรือสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นแนวทางในการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าต่อไป