เปิด 5 กลุ่มชิงดำ Virtual Bank “ช้อปปี้” จาก “SeaGroup” ร่วมขบวน

Virtual

5 กลุ่มธุรกิจยื่นชิงไลเซนส์จัดตั้ง “Virtual Bank” ธปท.ปิดรับคำขอ 19 ก.ย.นี้ วงในเผยนอกเหนือจากกลุ่ม “กรุงไทย-ไทยพาณิชย์-ซี.พี.” ยังมี “เจมาร์ท” ผนึก “บีทีเอส” แจมด้วย รวมถึงแพลตฟอร์มดัง “ช้อปปี้” ที่มีบริษัทแม่ Sea Group ที่ประสบความสำเร็จ Digital Bank ในสิงคโปร์ ติดโผด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ใกล้ครบกำหนดการเปิดรับสมัครการขอใบอนุญาต (License) จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank แล้ว หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2567 โดยวันที่ 19 กันยายน 2567 จะเป็นวันสุดท้ายของการยื่นใบสมัคร ซึ่งหลังจากนั้น ธปท.และกระทรวงการคลังจะพิจารณาคัดเลือก และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกในเดือนมิถุนายน 2568

อย่างไรก็ดี กรอบระยะเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม หากมีผู้ที่สนใจยื่นขอหลายราย ซึ่งรอบนี้ ธปท.จะให้ใบอนุญาตเพียง 3 รายก่อน ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะมีระยะเวลาเตรียมตัว 1 ปี และจะเปิดให้บริการ Virtual Bank ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2569

แหล่งข่าวจากแวดวงการเงิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ที่ยื่นใบสมัครขอจัดตั้ง Virtual Bank ที่ค่อนข้างชัดเจน น่าจะมีด้วยกัน 5 ราย จากก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวชัด ๆ อยู่ 3-4 ราย ได้แก่ 1.กลุ่มบริษัท เอสซีบีเอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ที่ได้ประกาศความร่วมมือกับ KakaoBank ซึ่งเป็นธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการจัดตั้ง Consortium ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา รวมถึงการจับมือกับ WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน เข้ามาเป็นพันธมิตรเพิ่มเติมอีกราย

2.กลุ่มธนาคารกรุงไทย ที่ผนึกกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งกรุงไทยได้ลงนามความร่วมมือทางธุรกิจกับ AIS และ GULF มาตั้งแต่ปี 2566 โดยธนาคารกรุงไทยมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการบนแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ถึงประมาณ 40 ล้านราย ขณะที่ AIS มีฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 40 ล้านราย

3.กลุ่มบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซี.พี.) ที่มีความแข็งแกร่งทางด้านเครือข่าย และฐานลูกค้าจำนวนมากผ่านบริษัทในเครือ ร่วมกับพันธมิตรของบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น “ทรูมันนี่” ได้แก่ Ant Financial Services Group ในเครือ Alibaba ที่เป็นผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลก

Advertisment

4.กลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS โดยจับมือร่วมกับบริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (JMART) ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีกระแสข่าวว่า อาจจะมีธนาคารกรุงเทพด้วย แต่ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน

ส่วนกลุ่มที่ 5 ที่คาดว่า จะมีการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank นอกจากรายชื่อตามที่ปรากฏเป็นข่าว 4 ราย ก็คือ กลุ่ม Shopee ผ่านบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อยู่ภายใต้บริษัท Sea Group จากประเทศสิงคโปร์

Advertisment

อย่างไรก็ดี Shopee จะไม่มีการจับมือพันธมิตร อย่างธนาคาร หรือกลุ่มบริษัทอื่น เหมือนผู้ยื่นขอใบอนุญาตรายอื่น ๆ เนื่องจาก Shopee มีความเชี่ยวชาญ และมีฐานลูกค้าจำนวนมากที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกัน Shopee ยังมีประสบการณ์ในเรื่องของการให้บริการ Virtual Bank มาก่อน โดยดำเนินการภายใต้ Sea Group เจ้าของแพลตฟอร์ม Garena ที่ได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ Digital Bank ในสิงคโปร์

“ตอนนี้ เท่าที่เห็นน่าจะมีคนสนใจยื่นไลเซนส์ขอ Virtual Bank แล้ว 5 ราย รายที่เข้ามาเพิ่ม จะเป็นกลุ่มเจมาร์ท ที่จับมือกับบีทีเอส และช้อปปี้ ที่ให้ความสนใจ ซึ่งต้องชิงดำกัน เพราะแม้ว่าตอนนี้ กระทรวงการคลังจะเปิดเพดานให้มีไลเซนส์ได้มากกว่า 3 ราย แต่ ธปท.ไม่อยากให้เกิน 3 ราย ส่วนหนึ่งมาจากบุคลากรของ ธปท. ไม่เพียงพอในการตรวจสอบ เพราะต้องยอมรับว่า Virtual Bank เป็นเรื่องใหม่ ทำให้การตรวจสอบจะต้องมีความละเอียด ไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ” แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ระบุว่า คณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้โออาร์จับมือกับพันธมิตร อย่างธนาคารกรุงไทย และ AIS จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อยื่นสมัครขอใบอนุญาต Virtual Bank แล้ว ตอนนี้ จึงสามารถประกาศได้อย่างเป็นทางการ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าสัดส่วนถือหุ้นเท่าไหร่ เพราะจะลงนามและแถลงข่าวร่วมกันอีกครั้ง

ดิษทัต ปันยารชุน
ดิษทัต ปันยารชุน

นอกจากนี้ มีการวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด คาดการณ์ว่า 3 กลุ่ม ที่คาดว่าจะได้รับไลเซนส์ Virtual Bank ในรอบนี้ ได้แก่ กลุ่มธนาคารกรุงไทย, กลุ่มไทยพาณิชย์ และกลุ่ม ซี.พี. เนื่องจากมองว่าการจะดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ให้ประสบความสำเร็จ ต้องมีความพร้อมใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.ความพร้อมเงินทุน

2.ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสูง และ 3.ความพร้อมด้านฐานลูกค้า