
ธปท.เผยเศรษฐกิจยังขยายตัวตามคาดทั้งปี 2.6% คาดครึ่งปีหลังแรงส่งแผ่วขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% เทียบครึ่งปีแรก 1.2% จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง “การลงทุนเอกชน-ภาครัฐ-คุณภาพสินเชื่อ” หนุน กนง.ปรับลดดอกเบี้ย หลังตัวเลขออกมาต่ำกว่าคาดการณ์
วันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ไว้ที่ระดับ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
ทั้งนี้ หากดูภาพรวมเศรษฐกิจและตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 2/2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ออกมาขยายตัว 2.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) สอดคล้องกับกนง.ประเมินไว้ในรอบการประชุมครั้งที่ผ่านมา
โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญ คือ ภาคการบริโภคขยายตัว 2.4% และการส่งออก 1.4% อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ออกมาน้อยกว่าที่ประเมินไว้ คือ การเบิกจ่ายงบฯลงทุนภาครัฐ -0.2% จากเดิมที่คาดว่าจะเป็นบวกในไตรมาสที่ 2/2567 และการลงทุนภาคเอกชน -1.1% YOY ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่ทุกสำนักคาดการณ์ไว้
ขณะที่แนวโน้มในอนาคตในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 มองว่า การขยายตัวจะมีความสมดุลขึ้น ภาคการส่งออกจะกลับมาเป็นบวก และการท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่อง ด้านอัตราเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3% ในช่วงปลายปีนี้ ส่วนในปี 2568 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำของขอบล่าง
เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสินค้าบางหมวด โดยภาพรวมอัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังปีนี้เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีนี้จะมีสัญญาณแผ่วลง โดยอัตราเฉลี่ยครึ่งแรกขยาย 1.2% และครึ่งหลังขยายตัว 0.7% โดยทั้งปี 2567 จีดีพีจะอยู่ที่ 2.6% และในปี 2568 จะอยู่ที่ 3%
ดังนั้น ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน หากดูตัวเลขเศรษฐกิจยังคงเหมือนเดิมที่คาดการณ์ไว้ เช่น 1.อัตราเงินเฟ้อ แม้ว่าจะต่ำในปี 2568 แต่มาจากปัจจัยเฉพาะในเรื่องของอาหารสดที่ราคาปรับลดลง 2.ภาคการเงิน ซึ่งหากเรื่องของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อ ทิศทางการปล่อยสินเชื่อน้อยลง แต่สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นบ้าง แต่มีสาเหตุมาจากมาตรการช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 ที่ทยอยคายออกมา อาจจะต้องจับตาว่าตัวเลขจะมีการกระโดดสูงเกินไป และปัจจัยนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่ง ธปท.มองเป็นปัจจัยแวดล้อมไม่ได้เป็นที่ต้องพิจารณาเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ข้อมูลไส้ในที่มีการเปลี่ยนแปลงและเป็นความเสี่ยงที่จับตาดูว่าจะต้องมีการประเมินนโยบายการเงินใหม่นั้น คือ 1.การลงทุนภาคเอกชนที่มีการปรับลดลงค่อนข้างเยอะ ซึ่งจะต้องดูว่าการลดลงเกิดจากปัจจัยอะไร ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว หรือมีปัจจัยอะไรที่มากกว่านั้น 2.การลงทุนภาครัฐที่ออกมาต่ำกว่าคาด แม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แต่อาจจะต้องรอดูในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้
และ 3.ภาคการเงินในเรื่องของคุณภาพสินเชื่อที่อาจจะไปเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจ เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อที่แย่ลง ทำให้ธนาคารระมัดระวังชะลอการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจให้ชะลอ เพราะงบดุลในกระเป๋าประชาชนชะลอ ซึ่งจะเป็นปัญหาวนลูปจนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
“การพิจารณาดอกเบี้ย เราต้องมองข้อมูลรอบด้าน โดยตัวเลขเศรษฐกิจยังเหมือนที่ทองไว้เป๊ะ แต่ไส้ในอาจเปลี่ยนแปลงบางตัว ซึ่งเราจะต้องดูปัจจัยภายในประเทศ หากมีอะไรที่ไม่ได้คาดคิดไว้ จะต้องมีการประเมินนโยบายใหม่หรือไม่ แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง ถือว่าจุดยืนยังเหมือนเดิม ดอกเบี้ย 2.50% ยังเป็นระดับสมดุลและความเป็นกลาง หรือ Neutral Rate ดังนั้น Growth ยังเหมือนเดิม แต่ Downside Risk มีมากขึ้น”