รัฐบาลตีกรอบวินัยการเงินการคลังประเทศ ตั้งงบกลางไม่เกิน 3.5% ของงบประจำปี เข้มหน่วยงานก่อภาระให้รัฐชดเชยไม่เกิน 30%

รัฐบาลตีกรอบวินัยการเงินการคลังประเทศ ตั้งงบกลางไม่เกิน 3.5% ของงบประจำปี เข้มหน่วยงานก่อภาระให้รัฐชดเชยไม่เกิน 30% ยึดกรอบหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 60% ตั้งเป้าทำงบสมดุลในแผนระยะปานกลาง

กระทรวงการคลังรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คณะกรรมการฯ) ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 62 บัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน

โดยคณะกรรมการฯ ได้มีมติในเรื่องเกี่ยวกับกรอบวินัยการเงินการคลังที่สำคัญ ซึ่งสามารถสรุปได้ คือ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดสัดส่วนต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 1. สัดส่วนสำหรับใช้เป็นกรอบวินัยในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประกอบด้วย 1.1) สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.0 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

1.2) สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 3.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยในส่วนของงบประมาณเพื่อการชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการกู้เงินของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระต้องตั้งตามภาระที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณนั้น

1.3) สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีงบประมาณไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และ 1.4) สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

2. สัดส่วนสำหรับใช้เป็นกรอบวินัยในการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินงาน ซึ่งรัฐบาลรับภาระที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้ โดยกำหนดอัตราการชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายต้องมียอดคงค้างรวมกันไม่เกินอัตราร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

3. สัดส่วนเพื่อใช้เป็นกรอบวินัยในการบริหารหนี้ ประกอบด้วย 3.1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต้องไม่เกินร้อยละ 60, 3.2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ต้องไม่เกินร้อยละ 35, 3.3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ต้องไม่เกินร้อยละ 10 และ 3.4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ต้องไม่เกินร้อยละ 5

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง โดยมีเป้าหมายการคลัง คือ “การจัดทำงบประมาณแบบสมดุล” ทั้งนี้ รายละเอียดในแผนการคลังระยะปานกลางประกอบด้วย สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ สถานะและประมาณการการคลัง สถานะหนี้สาธารณะ และภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาล โดยแผนการคลังระยะปานกลางดังกล่าวจะต้องนำไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐต่อไป