ประธานสภาพัฒน์ “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ชำแหละโจทย์ปฏิรูปเศรษฐกิจปัญหาเร่งด่วน ผลักดันภาคเกษตร-อาหาร+ไฮแวลูเซอร์วิส Growth Engine ตัวใหม่ประเทศสร้างงานคนไทย ปิดฉากแนวคิดไทย “ดีทรอยต์ออฟเอเชีย” โอกาสแข่งกับจีนยาก ประเด็นใหญ่จีนเดินหน้านโยบายเพิ่มการผลิตส่วนเกินส่งออกถล่มตลาดโลก ประเทศไทยต้องทรานส์ฟอร์มเศรษฐกิจใหม่ ชูภาคเกษตร-อาหาร ป้อนตลาดจีน รัฐบาลต้องกำหนดอนาคตประเทศไทยให้ชัด ชี้ลงทุน “ดาต้าเซ็นเตอร์” ไม่ตอบโจทย์ผลต่อเศรษฐกิจต่ำ ไม่มีการจ้างงาน มีแต่ใช้ทรัพยากรไฟฟ้า-น้ำ
โจทย์เร่งด่วนเศรษฐกิจไทย
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และที่ปรึกษาของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโจทย์เศรษฐกิจประเทศไทยว่า โจทย์เศรษฐกิจไทยมีเยอะมาก และทุกเรื่องดูเหมือนเร่งด่วนไปหมดแล้ว มีทั้งปัญหาโครงสร้างที่ยังไม่ได้ทำ ซึ่งใกล้ตัวเข้ามาเรื่อย ๆ รวมถึงปัจจัยภายนอก ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเร่งเร้าให้มีปัญหาเชิงโครงสร้างเพิ่มขึ้นอีก และมีปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจภายในของเราที่ประชากรแก่ตัวมากขึ้น พลังงานก็เริ่มมีน้อยลง
และยังมีปัญหาเฉพาะหน้าที่เข้ามาแรง ๆ 2 เรื่องหลัก ๆ คือ นโยบายของจีนที่เร่งการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก และล่าสุดผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และแบงก์ชาติที่ให้สัมภาษณ์ ยอมรับว่าเศรษฐกิจโตได้ช้าในบางส่วน เงินเฟ้อไม่ได้โตเร็วอย่างที่คาดการณ์ และสำคัญที่สุดตอนนี้คือ เริ่มเห็นการตึงตัวของสภาวะการเงิน เห็นถึงการที่สินเชื่อ SMEs ปรับตัวลงไป สินเชื่อครัวเรือนที่ชะลอตัวลง และที่สำคัญคือ “คุณภาพสินเชื่อด้อยลง”
“โจทย์สำคัญคือแนวคิดเกี่ยวกับ Economic Transformation ของประเทศ ต้องทรานส์ฟอร์ม ต้องเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่ 20 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อให้คนไทยมีงานที่ดีทำ”
คุณภาพสินเชื่อทรุด-NPL พุ่ง
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า เรื่องคุณภาพสินเชื่อที่เริ่มไม่ค่อยดี แบงก์ชาติใช้คำว่า “คุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลง” แปลจริง ๆ ก็คือ NPL หนี้เสียเพิ่มขึ้น ซึ่งมันเป็นปลายเหตุแล้ว ก็ลองนึกถึงตัวเราเอง ถ้าถึงจุดที่ไม่สามารถจ่ายหนี้แบงก์ได้แล้ว ก็คือมันต้องแย่แล้ว แล้วรอมาจนถึงตรงนี้ ถึงบอกว่าถึงเวลาต้องเปิดประตูลดดอกเบี้ย
“ดังนั้นพอมาถึงวันนี้ สำหรับผมน่าจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเร่งด่วน และแบงก์ชาติเริ่มเปิดใจที่จะลดดอกเบี้ย ปัญหาคือสิ่งที่เราเห็นวันนี้เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ และผมเคยพูดมาก่อนแล้วช่วงปลายปีที่แล้วว่า ระวัง 6-12 เดือนหลัง นโยบายการเงินจะตึงเกินไป และเริ่มส่งผลกระทบ ซึ่งก็เห็นเป็นประจักษ์และกำลังเห็นในตอนนี้
ถ้าหากจะลดดอกเบี้ยวันนี้ ประโยชน์ที่ได้ในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นปัญหาเร่งด่วน ในเชิงที่ว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งรอบต่อไปที่จะประชุมลดดอกเบี้ยก็ตั้งเดือนตุลาคม ซึ่งอีกนาน สำหรับแบงก์ชาติฟังดูเหมือนจะไม่ได้เร่งด่วน เพราะสำหรับเขาเพียงแค่เปิดประตูและเปิดใจเฉย ๆ”
ถอดรหัส “จีนถล่มโลก”
“เรื่องของจีน จากบทความของ The Wall Street Journal ที่เจาะลึกแนวคิดของผู้นำว่า ทำไมจีนมาเริ่มสงครามการค้ารอบใหม่ ระบุว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เลือกแล้วว่าแนวทางในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจจีน จะใช้การเร่งการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีสูงเป็นหลัก ดังนั้น นโยบายของจีนจึงเร่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อจะนำจีนไปสู่มหาอำนาจ ดูจากโครงสร้างของจีนจะผลิตเกินความต้องการแน่นอน และมีเป้าหมายจะผลิตเพิ่มขึ้นอีก เพื่อต้องการที่จะมีศักยภาพเหนือใคร ๆ ในเรื่องสินค้าอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชั้นสูง
เช่น ตอนนี้จีนมีกำลังการผลิตรถยนต์ ประมาณ 40 ล้านคัน แต่ขายในประเทศแค่ 22 ล้านคัน อีก 18 ล้านคัน ก็ต้องส่งออก จากที่เห็นมีการส่งออกรถอีวีจีนราคาถูกมาบ้านเราเยอะแยะ และจีนมีกำลังการผลิตส่วนเกินสำหรับโซลาร์เซลล์อีก 8 เท่า นี่แค่ตัวอย่าง
“สิ่งที่เราต้องถามตัวเองว่า เราจะทำอย่างไร เพราะว่าประเทศอื่น ๆ อย่างน้อยมี 9 ประเทศที่มีมาตรการเข้ามาพยายามลดผลกระทบตรงนี้ ประเด็นคือปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาชั่วคราว เพราะผู้นำจีนจะเอาแบบนี้ ถามว่าระยะสั้นจะมีมาตรการแบบ 8-9 ประเทศไหม คงมีแรงกดดันให้ทำการตรวจสอบคุณภาพสินค้า มีมาตรการเกิดขึ้น แต่มาตรการคงเอาไม่อยู่ อาจชะลอผลกระทบได้ในระยะสั้น แต่ต้องดูในระยะยาวต้องทำอย่างไร”
วิเคราะห์ “อาหาร” จุดอ่อนของจีน
ดร.ศุภวุฒิฉายภาพว่า เรื่องจีน ต้องถามว่าประเทศไทยมีแผนจะอยู่กับสภาวะของโลกแบบนี้อย่างไร โดยเฉพาะอยู่กับการแข่งขันอุตสาหกรรมจีน ขอยกกรณีของประเทศออสเตรเลีย ชัดเจนว่าในเชิงการค้าและความมั่นคงยืนอยู่ข้างอเมริกา โดยที่จีนพยายามแซงก์ชั่นไม่นำเข้าสินค้าจากออสเตรเลียมานาน แต่ในที่สุดจีนต้องกลับมานำเข้าอาหารจากออสเตรเลีย เพราะจากข้อมูลจะเห็นว่าจีนขาดแคลนอาหาร แม้ว่าจีนจะพยายามพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร แต่ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทำให้จีนต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากประเทศอื่น ๆ
และนโยบายระยะสั้นรัฐบาลจีนตอนนี้คือ สต๊อกอาหาร ธัญพืช เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเขาแก้ปัญหาพื้นฐานตรงนี้ไม่ได้ เนื่องจากจีนมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 9% ของโลก แต่มีประชากรเท่ากับ 20% ของโลก ยิ่งเร่งการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ต้องดึงทรัพยากรออกจากส่วนอื่น ๆ เพื่อจะมาพัฒนาอุตสาหกรรม
“ดังนั้น ประเทศไทยต้องคิดว่าเราสามารถที่จะอยู่อย่างมีคุณภาพกับจีน คงต้องเน้นเรื่องการเกษตร อาจจะเป็นเกษตรไฮเทคขึ้น เกษตรที่มีผลผลิตสูงขึ้น ถามว่าเราเริ่มหรือยัง คือยังไม่ได้ทำ ขนาดยังไม่ได้ทำอะไร ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนเป็นลำดับที่ 4-5 ของโลก ซึ่งถือว่าไม่ได้แย่”
ดัน “เกษตร” Growth Engine
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า พื้นฐานที่สำคัญต้องการให้ผลผลิตต่อหัวของเกษตรกรสูงขึ้น ต้องการให้เกษตรกรมีรายได้ต่อหัวมากขึ้น เพราะว่าถ้าไม่ทำอย่างนั้นแปลว่า เราขาด Growth Engine แต่ก่อนเราไม่สนใจภาคเกษตร เพราะที่ผ่านมา Growth Engine มีทั้งภาคท่องเที่ยวก็ดี อุตสาหกรรมการผลิตก็ดี เราผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ก็ได้ แต่ตอนนี้เป็นอย่างนั้นไม่ได้ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ถูกแทนที่โดย โซลิดสเตตไดรฟ์ (SSD) ส่วนดีทรอยต์ออฟเอเชีย ถูกรถ EV มาแทนที่ ดังนั้นต้องมาคิดจริง ๆ แล้ว อย่าพูดแค่ว่าภาคเกษตรเป็นแค่กระดูกสันหลังของประเทศ
โครงสร้างภาคการเกษตรของเรายังมีจุดอ่อนมาก เราผลิตข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และธัญพืช สินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งรายได้ก็ไม่ได้สูง ยังมีความอ่อนแออยู่มาก เนื่องจากประเทศไทยมีความเก่งช่วงกลาง Supply Chain ของภาคเกษตร ช่วงต้นเป็นพวกธัญพืชต่าง ๆ ผลผลิตไม่สูงและมีไม่พอในบางส่วน ข้าวก็ไม่พอ ส่วนตรงกลางคือผลิตพวกอาหารสัตว์ เพราะเราขายไก่ ปลา หมู ตรงนี้เป็นผลผลิตการส่งออกที่เยอะ สำหรับของพวกนี้มีไม่พอ และจะไปมากกว่านั้นได้หรือไม่ เราต้องเลือกว่าเราจะพัฒนาอย่างไร ต้องไปทั้ง Supply Chain
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ในมุมมองของตัวเอง การปฏิรูปภาคเกษตรคือโจทย์ใหญ่สุด แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาไม่มีการทำอะไรเลย ทำให้ปัญหาเรื่องโครงสร้างจึงกลายเป็นเรื่องที่เร่งด่วนไปแล้ว นี่คือโครงสร้างของเศรษฐกิจที่พยายามไปตอบโจทย์
เลิก “ดีทรอยต์ออฟเอเชีย”
ประธานสภาพัฒน์อธิบายว่า ปฏิรูปภาคการเกษตรถือเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้พัฒนามาเลย ผลผลิตต่อไร่ไม่ได้ดีขึ้น สินค้าหลักอย่าง ข้าว ไม่ได้เติบโตขึ้น แต่ผักผลไม้อย่าง ทุเรียน มีการส่งออกมากขึ้น ประเด็นคือเรื่องนี้ยังไม่ได้เป็น “แนวคิดหลักของชาติ” เพราะที่ผ่านมาเราบอกว่าประเทศไทยจะต้องเป็น Detroit of Asia ซึ่งตรงนั้นต้องเลิกพูดไปแล้ว
เพราะโอกาสที่ไทยจะไปแข่งในอุตสาหกรรมการผลิตกับจีนนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะขนาดอเมริกา ยุโรป ยังหนาว ประเทศไทยจะไปเหลืออะไร ถ้าจะไปเทียบกับเขา ญี่ปุ่นเองยังหนาว เรียกว่าทุกคน
ดร.ศุภวุฒิฉายภาพว่า นโยบายของจีนในการใช้อุตสาหกรรมการผลิตเป็น Growth Engine ในการเพิ่มกำลังผลิตส่วนเกิน ภาพที่เกิดขึ้นคืออุตสาหกรรมเก่าก็ไม่ทิ้ง ทั้งเหล็ก อะลูมิเนียม สิ่งทอ อุตสาหกรรมใหม่ก็เพิ่มมาอีก ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศจีนก็แย่จริงๆ อุตสาหกรรมในประเทศจีนก็ล้มเยอะแยะไปหมด ผู้ผลิตจีนต้องดิ้นมาขายต่างประเทศ เพราะข้างในแข่งกันรุนแรงกว่า ประเทศไทยก็เป็นพื้นที่ให้เขามาหาตลาดใหม่แน่นอน
ถึงเวลาทรานส์ฟอร์มเศรษฐกิจ
“เราต้องรู้ว่า เราต้องการอะไร ในความคิดผมไม่ได้ต้องการให้ประเทศไทยเป็นดีทรอยต์ออฟเอเชีย ให้ต่างชาติมาผลิตรถยนต์ แล้วไปแข่งกับจีน ผมว่ามันไม่เวิร์ก แต่ถ้าเรามีพื้นที่ให้คนรวยต่างชาติอยากมาพักผ่อน มาซื้อบ้านอยู่ แล้วเราก็จัดสรรทรัพยากรให้ดี แล้วเอาผลประโยชน์ที่ได้ตรงนี้มาดูแลสุขภาพคนไทย ดูแลที่อยู่อาศัย แต่ก็ต้องคุยระดับประเทศให้เห็นภาพก่อน ว่าเราจะเดินแบบนี้นะ”
ภาพใหญ่ของประเทศไทยต้องแปลงจากดีทรอยต์ออฟเอเชีย มาเป็น ไฮแวลูเซอร์วิสกับภาคเกษตร ผสมกันไป ตั้งแต่ดินที่ดี น้ำที่ดี อาหารที่ดี สุขภาพที่ดี แล้วก็เป็นประเทศที่น่าอยู่ ปลอดภัย แล้วเราทำได้ เพราะคนไทยเราอัธยาศัยดีอยู่แล้ว ต้องรักษาตรงนี้ไว้ให้ดี
อุตฯไทยไปทางไหนเมื่อเจอจีน
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ประเทศไทยต้องจัดสรรทรัพยากรใหม่ ทำสิ่งที่รู้ว่ายังไงจีนก็จะต้องการเพิ่มขึ้นทั้งปัจจุบันและในอนาคต ทำให้ดีกว่าเดิมเยอะ ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับสภาพว่าหลาย ๆ อุตสาหกรรมจะเล็กลง และมีความเฉพาะทางมากขึ้น อีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมรถยนต์เราควรยังมีอยู่ แล้วยังทำต่อไปได้ แต่บางส่วน เช่น เดิมทีผลิตท่อไอเสีย ผลิตหม้อน้ำ แต่รถอีวีไม่มีชิ้นส่วนเหล่านี้ ต้องยอมรับว่าตรงนั้นมันต้องหายไป อุตสาหกรรมรถยนต์ก็ยังอยู่ แต่จะอยู่เหมือนเดิมไม่ได้
คำถามว่าถ้าอุตสาหกรรมผลิตมันเล็กลง แล้วอะไรจะมาแทนที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งนั่นก็คือเกษตร ควรเอามาทำให้แพงได้ ดูจากเทรนด์แล้วปัจจัยต่าง ๆ จีนน่าจะทำให้ภาคเกษตรดีขึ้น และเปลี่ยนเทรนด์ 20 ปีที่ผ่านมาได้
ตอนนี้จีนก็เจออีกสองเทรนด์ 1.เทรนด์ประชากรแก่ตัวลง ซึ่งเขาจะไม่สามารถใช้ทรัพยากรแรงงานเยอะเหมือนแต่ก่อนได้ ในเมื่อผู้นำเลือกแล้วว่าจะไปภาคอุตสาหกรรมการผลิต ส่วนภาคเกษตร ซึ่งเทคโนโลยีภาคเกษตรถือว่าทำยากมาก 2.ประชากรจีนจะรวยมากขึ้น ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะโตช้าลงปีละ 3-5% เมื่อมีความร่ำรวยมากขึ้นก็จะกินอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น ยิ่งจะทำให้เขามีปัญหาด้านภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยก็สามารถไปตอบโจทย์ตรงนี้ได้
แก้โจทย์ดึงเศรษฐีต่างชาติ
ประธานสภาพัฒน์ฉายมุมมองว่า ตอนนี้ทั้งโลกจีดีพีโตไม่มาก มีคนแก่มากขึ้น และโลกก็กำลังจะเจอปัญหาดอกเบี้ย เพียงแต่ว่าเราจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ ซึ่งในหลักการคือ ต้องทำให้จีดีพีโต ก็กลับมาเรื่องเดิมคือ เศรษฐกิจโตด้วยอะไร ก็อย่างที่บอกคือ ต้องโตด้วยเกษตรที่มีคุณภาพมากขึ้น แล้วก็ต้องลิงก์ต่อไปว่า เมื่อเกษตรดี อาหารก็ดี การดูแลสุขภาพดี ก็สามารถขายท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็น Wellness Tourism และทำให้เป็นมากกว่า Tourism คือ ให้มหาเศรษฐีมาอยู่นาน ๆ สัก 3 เดือน
และถ้าจะทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องทำให้รู้สึกว่า เมืองไทยน่าอยู่จริง ๆ ปลอดภัย อาหารดี การดูแลสุขภาพ การรักษาพยาบาลดี และอาจจะดูว่าจะยอมให้ต่างชาติซื้อบ้านอยู่ได้หรือไม่ จากปัจจุบันที่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ คือมีการซื้อแบบผิดกฎหมายใช้นอมินี ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็จะไม่ได้คนรวยคุณภาพดี ก็จะได้แต่คนรวยที่มาฟอกเงิน แต่ถ้าบอกว่าจะให้ต่างชาติมาซื้อบ้านได้ ก็จะถูกบอกว่า ขายชาติ
“เรื่องนี้ก็อยากให้ลองคิดว่า เวลาเอาพื้นที่ไปให้เอกชนต่างประเทศทำโรงงาน เรายอมรับได้ เพราะมองว่าเป็น FDI แต่ผลก็ทำให้ราคาที่ดินแพงขึ้นเหมือนกัน ฉะนั้นเรื่องพวกนี้ต้องคุยกันให้ดี ไม่ใช่อ้างว่าขายชาติ แล้วก็เลยหยุดหมดเลย ต้องคิดใหม่ เช่นว่า ถ้าจะให้ต่างชาติเข้ามาซื้อบ้านในเมืองไทยได้ เหมือนเขาซื้อบ้านที่สิงคโปร์ แล้วถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกนิด 20-30% แล้วรัฐบาลก็นำเงินนี้มาช่วยสร้างบ้านให้คนไทยมีที่อยู่ มันก็มีวิธีทำ แต่ถ้ายังตราหน้าว่า ขายชาติ ก็เดินต่อไม่ได้”
สัญญาณไม่ชัด “เอกชนไม่ลงทุน”
ประธานสภาพัฒน์กล่าวถึงปัญหาการลงทุนภาคเอกชนติดลบว่า เมื่อภาพใหญ่เศรษฐกิจ ทิศทางไม่เคลียร์ จะให้เอกชนไปคิดเองก็ถือว่าโหด ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการวางแผนเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้อยากให้เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของภาคเอกชน แต่บางกรณีควรมีการพูดคุยและเป็นฉันทามติ เป็นกรอบที่ให้รู้ว่า 10-20 ปีข้างหน้า รัฐบาลมีกรอบนโยบายว่าจะไปด้วยกันอย่างไร เอกชนก็สามารถตัดสินใจได้ว่าจะได้ทุ่มเททรัพยากรเงินทุนและความเสี่ยงไปในทิศทางไหน
“แต่ตอนนี้เหมือนกับว่าเห็นภาพใหญ่ เดี๋ยวก็อยากได้จำนวนนักท่องเที่ยว เดี๋ยวอยากได้ดาต้าเซ็นเตอร์ อยากได้กรีน ภาพเยอะไปหมด” ดร.ศุภวุฒิกล่าวและว่า
กรณีรัฐบาลออกไปโรดโชว์ดึงการลงทุนต่างประเทศ (FDI) ทำให้มีการลงทุนเกิดขึ้น แต่เป็นการลงทุนตามแนวคิดของต่างชาติว่าต้องการใช้ไทยผลิตอะไรในซัพพลายเชนของเขา แปลว่านโยบายของเราคือทำตาม FDI ถ้าอยากใช้เป็นฐานการผลิตในฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เราก็ต้องเป็น หรือจะเปลี่ยนไปทำดาต้าเซ็นเตอร์เราก็ต้องทำ มันก็เหนื่อยสำหรับคนไทย
“โดยที่เราจะไม่รู้ว่า เราจะกำหนดอนาคตตัวเองอย่างไร เพราะเราไม่ได้กำหนดอนาคตตัวเอง”
ดาต้าเซ็นเตอร์ผลต่อ ศก.ต่ำ
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า อย่างที่บอก การลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ไม่ได้มีการจ้างแรงงาน มีแต่ใช้พลังงาน และสร้างความร้อนและใช้น้ำเยอะ แล้วประเทศไทยมีทรัพยากรพวกนี้ที่เสถียรแล้วหรือไม่ พลังงานต้องเสถียร น้ำต้องเสถียร พื้นที่ต้องมีให้เขา และจ้างคนน้อยมาก ลงทุนมหาศาล แต่ประเทศไทยได้ประโยชน์น้อยมาก
“เราถึงต้องมาทำให้เกิดฉันทามติในประเทศว่า อนาคตคนไทยจะหากินกันอย่างไร เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ของโลก อาจจะไม่ใช่แนวทางสร้างโอกาสให้คนไทยมีงานที่ดีทำอย่างทั่วถึง เพราะจริง ๆ แล้วพื้นฐานสุดท้ายที่เล่ามาทั้งหมด เราต้องการสร้างงานที่ดีให้กับคนไทยทำ ถ้าไม่ตอบโจทย์ตรงนี้ก็ไม่ตอบโจทย์ประเทศ”
เลือกตั้งสหรัฐอีเวนต์สำคัญ
นอกจากนี้ ดร.ศุภวุฒิกล่าวถึงช่วงเวลาที่เหลือภาพใหญ่อีเวนต์สำคัญ คือ เลือกตั้งอเมริกา ซึ่งโพลออกมาสูสีมาก ถ้าแฮร์ริสมา ก็คงคล้าย ๆ เดิม แต่ถ้าเป็นทรัมป์ ปัญหาใหญ่แน่ ๆ เพราะว่าทรัมป์จะลดภาษีคนรวยต่อเนื่องไปอีก แล้วจะทำให้ขาดดุลงบประมาณมากขึ้นไปอีก และทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก พุ่งขึ้นไปกว่า 100% ต่อจีดีพีอย่างรวดเร็ว
และผลกระทบจะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวของอเมริกาสูง และทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของทั้งโลกสูงไปด้วย รวมทั้งไทย ฉะนั้นการบริหารหนี้สาธารณะของไทยก็จะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งรัฐบาลไทยมักจะออกพันธบัตรระยะยาว 7-10 ปี ต้นทุนการเงินก็จะสูงขึ้น
และอีกอย่างคือนโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์รุนแรงมาก ซึ่งจะกระทบแรงงานในประเทศ อันนี้จะน่ากลัวมาก ถ้าทรัมป์เข้ามา ซึ่งต้องคิดว่าจะหาทางป้องกันตัวให้ดีที่สุดอย่างไร แต่ส่วนตัวก็ยังเชื่อว่า แฮร์ริสจะชนะการเลือกตั้ง บนข้อมูลและปัจจัยต่าง ๆ ที่ประมวลแล้ว
โจทย์สังคมสูงวัย-การศึกษา
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า อีกเรื่องคือ “พลังงานเรากินบุญเก่า” โชติช่วงชัชวาลเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยปัจจุบันหมดไปเรื่อย ๆ เราต้องพึ่งพาก๊าซของเมียนมา จึงมีความจำเป็นที่ต้องมาดูว่าจะทำยังไงในพื้นที่ทับซ้อน Overlapping Claims Area-OCA ถ้ายังเถียงกันอยู่ว่าเป็นเขตของใคร ก็ไม่ได้ทำอะไร และไม่ได้แก้ปัญหาตรงนี้ ตกลงจะเอาพลังงานไหนมาจากไหน ต้องเปลี่ยนเป็น JDA (Joint Development Area) เพื่อจะเจรจาใช้พื้นที่นั้นให้เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ประธานสภาพัฒน์ระบุว่า ประเด็นสุดท้าย สุขภาพคนแก่ จะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งประเทศไทยตอนนี้มีคนแก่ 13 ล้านคน ต่อไปจะมี 20 ล้านคน ภายใน 10 กว่าปีข้างหน้า ต้องมีกลไกในการทำให้คนแก่พวกนี้สุขภาพดี จนวันสุดท้ายของชีวิต ไม่เบียดเบียนทรัพยากรของประเทศมาก อย่างจะตายอายุ 80 ปี ก็ต้องไม่สบาย 3 วันสุดท้าย แล้วตายเลย ไม่ใช่เป็นโรคนั้นโรคนี้ก่อนจะตาย
และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องการศึกษา ถ้าเด็กไม่ได้รับการศึกษาที่ดี ไม่มีทางจะหางานดี ๆ ทำได้ ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาประชากรวัยเด็กลดลงด้วย ก็ต้องดูแลไม่ให้ลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่แค่เห็นปัญหาหนี้ครูเยอะแยะแล้ว จะดูแลเด็กให้ดีได้อย่างไร