กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผยลูกค้าบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลตบเท้าขอปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น ชี้ ยอดปรับชำระขั้นต่ำ 8% กระทบยอดผิดนัดชำระ-หนี้เสียเพิ่ม แต่คาดว่าเริ่มทรงตัวหลังลูกค้าปรับตัวได้ ระบุ ยอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ลดลง 1-2% เหตุเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคาด พร้อมเดินหน้า 5 กลยุทธ์
วันที่ 29 สิงหาคม 2567 นายอธิศ รุจิรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้มีลูกค้าเข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน หรือก่อนเป็นเอ็นพีแอล (Debt Restructuring : DR) และการปรับโครงสร้างหลังเป็นหนี้เสีย (Troubled Debt Restructuring : TDR) ส่งสัญญาณเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงลูกค้าได้รับรู้ถึงการสื่อสารของโปรแกรมการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเกณฑ์ปรับชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต (Minimum Payment) ที่ปรับจาก 5% เป็น 8% เริ่มเห็นผลในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ในช่วงแรกของการปรับเกณฑ์ตัวเลขผิดนัดชำระหนี้ (SM) ปรับเพิ่มขึ้น และหนี้เสียขยับ อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าจะเริ่มทรงตัว (Stable) เนื่องจากลูกค้าเริ่มปรับตัวได้แล้ว
โดย ณ เดือนมิถุนายน 2567 เอ็นพีแอลบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.4% ถือว่าน้อยกว่าทั้งระบบ 2 เท่าตัว จากทั้งระบบอยู่ที่ 2.9% และสินเชื่อส่วนบุคคลเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.6% ทั้งระบบอยู่ที่ 4.1%
ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์เศรษฐกิจและตัวเลขผิดนัดชำระที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (Approaval Rate) ปรับลดลงราว 1-2% จากต้นปี 2567 ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทให้ความระมัดระวังและค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้มีการปรับเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อ โดยยังกำหนดรายได้ผู้กู้อยู่ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน
ทั้งนี้ หากดูตัวเลขผลการดำเนินงานของบริษัทเมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งระบบ จะเห็นว่าจำนวนลูกค้าใหม่ขยายตัว 1.7% เมื่อเทียบกับตลาดขยายตัว 3.8% ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) ขยายตัว 9.3% เมื่อเทียบตลาดอยู่ที่ 4.9%
“ปีนี้เรามีการอนุมัติสินเชื่อน้อยลงและต่ำกว่าตลาด ส่วนหนึ่งเราเห็นยอดผิดนัดชำระหนี้และเอ็นพีแอลขยับเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ Min Pay แต่อยู่ในอัตราที่ควบคุมได้ และเชื่อว่าตัวเลขจะเริ่ม Stable หลังปรับตัวได้และคุ้นชิน แต่ในช่วงแรกที่ยอดผิดนัดชำระเยอะเพราะคนตกใจและยังปรับตัวไม่ได้
ดังนั้น ส่วนตัวมองว่า Min Pay ที่แบงก์ชาติคงไว้ 8% ถือว่าดีแล้ว เพราะหากมีการปรับขึ้นและลง จะทำให้ลูกค้า Shock ได้ หลังจากปรับตัวจ่ายได้ 8% และไปลดเหลือ 5% และจะมาปรับขึ้นเป็น 10% จะยิ่งทำให้เกิดเป็นวัฏจักรที่ทำให้การชำระหนี้สะดุดได้อีก“
อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย โดยมียอดบัญชีใหม่อยู่ที่ 2.87 แสนบัญชี เติบโต 7% จากเป้าหมายทั้งปี 2567 อยู่ที่ 6.17 แสนบัญชี คิดเป็นการเติบโต 10% จากปี 2566 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 1.89 แสนล้านบาท เติบโต 9% จากเป้าหมาย 3.93 แสนล้านบาท เติบโต 8%
ขณะที่ยอดสินเชื่อใหม่เป้าหมายทั้งปีอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 9% โดยในช่วงครึ่งแรกทำได้แล้ว 4.7 หมื่นล้านบาท เติบโต 6% และยอดสินเชื่อคงค้างทำได้แล้ว 1.4 แสนล้านบาท เติบโต 2% จากเป้าหมาย 1.51 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 2%
ดังนั้น กลยุทธ์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จนถึงครึ่งแรกของปี 2568 หรือระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้ บริษัทจะดำเนินกลยุทธ์ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่ 1.มุ่งพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลักให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการสร้างความเติบโตในธุรกิจหลัก คือ สินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลัก คือ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อผ่อนชำระ ให้มีจุดเด่นและสิทธิประโยชน์ที่ตรงความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งวางช่องทางการตลาดและการจำหน่ายที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
2.ขยายระบบนิเวศพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ โดยขยายความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งพันธมิตรหลักที่ร่วมออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตซึ่งอาจต่อยอดความร่วมมือในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ ๆ อีกทั้งพันธมิตรแบรนด์ชั้นนำอื่น ๆ ในธุรกิจต่าง ๆ ที่จะร่วมนำเสนอโปรโมชั่นที่ตอบไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โดยเน้นหมวดร้านอาหาร และแผนผ่อนชำระ (Extended Payment Plan) ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรร้านค้ากว่า 2.5 หมื่นร้านค้า
3.สร้างเสริมนวัตกรรมทางการชำระเงิน พัฒนานวัตกรรมทางการชำระเงิน (Payment Solutions) ใหม่ ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการชำระเงินที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นให้กับลูกค้า เช่น การใช้ Biometrics หรือการผูกบัญชีบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กับอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือ Digital Wallet ฯลฯ
4.ผสานความร่วมมือในเครือกรุงศรีเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยผสานความร่วมมือให้สอดคล้องและส่งเสริมเป้าหมายทางธุรกิจที่เครือกรุงศรีมุ่งเน้น เช่น ความร่วมมือกับหน่วยงานธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคลของธนาคารผ่านกลยุทธ์ Krungsri One Retail เพื่อเชื่อมโยงให้ลูกค้าบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายในเครือกรุงศรี เพื่อตอบความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
5.พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยวางโครงสร้างและการบริหารทรัพยากรของหน่วยงานสนับสนุนให้สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจในอนาคตของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานให้สามารถรองรับความเติบโตในอนาคตได้
“เราเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจจะทำได้ตามเป้าหมาย แต่สถานการณ์มีลมต้านค่อนข้างมาก ทั้งจากภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด และคาดว่าในไตรมาสที่ 4/67 จะเริ่มเห็นการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้ Business Landscape เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจึงต้องเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ และปรับเป้าหมายและกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบท”