เร่งตั้ง NaCGA ปี’68 จับตาอนาคต บสย. ?

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2567 ได้เห็นชอบหลักการของร่างแนวคิดการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency : NaCGA) ตามข้อเสนอของนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง จากที่ปัจจุบันกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของไทยจะดำเนินการโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งข้อดี-ข้อด้อย ก็อาจจะมีแตกต่างกันไป

อย่างไรก็ดี หากไม่มีอะไรสะดุด ขั้นตอนต่อไป กระทรวงการคลังจะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยกร่างกฎหมายจัดตั้ง ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน และคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนของ NaCGA ได้ในช่วงกลางปี 2568

ยกเครื่องระบบค้ำประกัน

“เผ่าภูมิ” ระบุว่า เป็นการยกเครื่องระบบค้ำประกันของไทย โดย NaCGA จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และจะทำหน้าที่หลักในการค้ำประกันสินเชื่อและธุรกรรมต่าง ๆ ของทั้งสถาบันการเงินและผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร (Nonbank)

รวมถึงค้ำประกันหลักทรัพย์และการออกหลักทรัพย์ ให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น วิธีและรูปแบบการค้ำประกันจะเน้นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee)

“NaCGA จะค้ำประกันโดยตรง โดยเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียม การค้ำประกันอิงตามระดับความเสี่ยง (Risk-based Pricing) การอนุมัติและออกหนังสือค้ำประกัน ทั้งนี้ รายได้จะมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินสมทบจากรัฐบาล เงินสมทบจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมจากผู้ขอสินเชื่อ”

“การค้ำประกัน จะอยู่ที่ความเสี่ยงและข้อตกลงของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งจะสะท้อนออกมาที่ค่าธรรมเนียมที่จะแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่จะได้คือ NaCGA จะช่วยจ่ายทั้งในส่วนของผู้ขอกู้ และภาครัฐเข้ามาอุดหนุนด้วย ดังนั้น ยืนยันว่าค่าธรรมเนียมจะต่ำ ทั้งนี้ โมเดล NaCGA นี้ สำเร็จในต่างประเทศมาแล้ว อย่างเช่น ในเกาหลีใต้ เป็นต้น”

ADVERTISMENT

อนาคต บสย.ยังไม่ชัดเจน

ส่วนอนาคตของ บสย. ที่เป็นกลไกค้ำประกันในปัจจุบันนั้น “เผ่าภูมิ” ระบุว่า NaCGA อาจจะทำงานร่วมกับ บสย.ก็ได้ ซึ่งไม่ผิดที่จะมี 2 หน่วยงานอยู่ด้วยกัน ทำงานร่วมกัน

ขณะที่มีความเห็นจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เนื่องจากบทบาท อำนาจ หน้าที่ และวัตถุประสงค์ของหน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้น จะกว้างกว่า บสย. ซึ่งเป็นองค์กรการค้ำประกันของไทยในปัจจุบัน

ADVERTISMENT

ดังนั้น ในการตรากฎหมายจัดตั้ง ควรให้ความสำคัญกับการคัดเลือกและสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ เหมาะสมและเพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจที่มีจำนวนและความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สถาบันค้ำประกันที่จัดตั้งขึ้น จะสามารถดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กรที่กำหนดไว้ได้

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า กรณีกระทรวงการคลังจะจัดทำและนำร่างกฎหมายเสนอ ครม.พิจารณาต่อไปนั้น ควรต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยควรคำนึงถึงความซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่นของรัฐและหลักความจำเป็นในการตรากฎหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย
แบงก์ต้องจ่ายสมทบตามสัดส่วน

ทั้งนี้ “แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง” ให้ข้อมูลว่า กระทรวงการคลังและ ธปท. กำลังเร่งดำเนินการ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยการจัดตั้ง NaCGA ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบหลักการไปแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตในภาวะวิกฤตให้ผู้ประกอบการ โดยขั้นตอนต่อไปอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายและเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง)

“หลักการ คือ จะเป็นการขยายบทบาทและยกระดับ บสย. ให้เป็นสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ เมื่อกฎหมายบังคับใช้ ก็จะโอนย้ายพนักงานมาอยู่ภายใต้องค์กรใหม่ เป็นองค์กรภายใต้กระทรวงการคลัง ที่มี ธปท.เป็นผู้กำกับดูแล ทั้งนี้ NaCGA ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะต้องการทำให้ไม่มีความคล่องตัว และไม่ได้เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) แต่กระทรวงการคลังจะดูด้านนโยบาย และแบงก์ชาติดูด้านความมั่นคงทางการเงิน”

โดยหลักการทำงานจะเปลี่ยนไปจากเดิม แหล่งเงินของ NaCGA ที่จะมาสนับสนุนการค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หลัก ๆ จะมาจากเงินอุดหนุนจากรัฐ และเงินสมทบจากแบงก์ ตามสัดส่วน (%) การปล่อยสินเชื่อธุรกิจรวม

“ค่าธรรมเนียมจะเป็นลักษณะของการบังคับเก็บ เพื่อให้ NaCGA มีเงินกองทุนที่เพียงพอในการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้น แนวคิด คือ ให้แบงก์สมทบตามสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อธุรกิจ (เอสเอ็มอี+รายใหญ่) เหมือนที่แบงก์ต้องจ่ายเงินสมทบให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก”

แหล่งข่าวกล่าวว่า การให้แบงก์จ่ายสมทบตามสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อธุรกิจรวม ส่วนหนึ่งก็จะเป็นกลไกผลักดันให้แบงก์กระตือรือร้นในการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้น เพราะถ้าแบงก์ที่ไม่สนับสนุนปล่อยกู้เอสเอ็มอี ก็จะไม่ได้ใช้ประโยชน์การค้ำประกันสินเชื่อจาก NaCGA ก็เท่ากับว่าแบงก์ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเงินจ่ายสมทบ และที่สำคัญเท่ากับเป็นการจ่ายให้แบงก์คู่แข่งเอาไปใช้ประโยชน์