
กบข.ปิ๊งไอเดียรองรับสังคมสูงวัย เร่งศึกษาผุด “ซีเนียร์ เฮาซิ่ง” รองรับสมาชิกเกษียณต้องการมีบ้านที่พักอยู่ได้จนกระทั่งเสียชีวิต แต่ไม่ต้องการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ชี้คนละแบบกับ “เนิร์สซิ่งโฮม” เหตุเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนวัยเกษียณที่ยังไปไหนมาไหน-ทำกิจกรรมได้ตามปกติ
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ กบข.อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางจัดทำ “ซีเนียร์ เฮาซิ่ง” (Senior Housing) สำหรับรองรับสมาชิกที่เกษียณอายุราชการแล้วอยากมีที่อยู่อาศัย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือที่อยู่อาศัยนั้น แต่หากจะไปซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ก็มีราคาแพง ซึ่งแนวทางดังกล่าวสมาชิกจะสามารถเข้ามาอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยของทาง กบข.ได้ไปจนกว่าจะเสียชีวิต และเมื่อสมาชิกเดิมเสียชีวิตไปแล้ว กบข.ก็จะปรับปรุง เพื่อให้สมาชิกรายใหม่มาอยู่ต่อ
ทั้งนี้ ซีเนียร์ เฮาซิ่ง จะไม่ใช่เนิร์สซิ่งโฮมที่เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล หรืออาจจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่ซีเนียร์ เฮาซิ่งจะให้ผู้ที่ยังออกไปไหนมาไหน ไปซื้อของได้ ไปเล่นกีฬา ไปปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ ได้มาพักอาศัยอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่ครอบครองในรูปแบบของการเป็น “สมาชิก” (Membership) ซึ่งหากสุดท้ายสมาชิกที่ได้รับสิทธิไม่เลือกมาอยู่ ก็อาจจะมีทางเลือกอื่นให้ อาทิ ในรูปผลตอบแทน เป็นต้น
“ซีเนียร์ เฮาซิ่ง จะรองรับสมาชิกที่เกษียณแล้ว แต่ยังสามารถไปไหนมาไหนได้ เพราะคนที่อายุเกิน 60 ปี ไม่ได้แปลว่าเขาจะแก่ แต่แปลว่าเขาอาจจะหมดวาระในการทำงาน แต่ยัง Enjoy กับการดำเนินชีวิต อาจจะเป็นกรรมการบริษัท หรือทำงานอาชีพเสริมอยู่ ยังออกท่องเที่ยว พบปะเพื่อนฝูง ยังสามารถที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง แต่ถึงจุดหนึ่งถ้าไม่สามารถที่จะดูแลตนเองได้ จนต้องมีคนดูแล ก็ต้องคิดโจทย์เรื่องเหล่านั้น”
นายทรงพลกล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีโจทย์ที่ท้าทายของสังคมไทยก็คือ เรื่องสังคมสูงวัย ซึ่งในปัจจุบันจะได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ทั้งคนแต่งงานกันน้อยลง หรือแต่งงานแต่มีบุตรน้อยลง หรือแม้กระทั่งไม่มีบุตรเลย ซึ่งในลักษณะนั้นต่างประเทศเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างในญี่ปุ่น หรือสหรัฐ เป็นต้น
ดังนั้น สิ่งที่ กบข.พิจารณาและศึกษาก็คือ จากนี้เป็นต้นไปถึง 10 ปี 1.เงินที่สมาชิกมีเพียงพอหรือไม่ จากเดิมคิดว่ามีประมาณ 5-6 ล้านบาทต่อคน น่าจะเพียงพอต่อการเกษียณอายุจนกระทั่งเสียชีวิต แต่เนื่องจากมีสถิติที่เพิ่มขึ้นว่า ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชายประมาณ 5 ปี จึงต้องพิจารณาว่าอายุที่ยืนยาวขึ้น เงินต้องเก็บมากขึ้นหรือไม่ 2.จำนวนเงินสมทบต้องมากขึ้นหรือไม่ เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น แล้วควรต้องเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่
“การที่เราศึกษาเรื่องเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่จะเกษียณ หรือผู้ที่มีอายุเยอะขึ้นต่อไปในอนาคต ในการพิจารณาความพอเพียงของเงิน ว่าต้องมีเท่าไหร่สำหรับการเกษียณอายุ และมีทางเลือกอื่นไหม เพราะต้องยอมรับว่าที่อยู่อาศัยแพงขึ้น นอกจากนี้ คำถามคือสมาชิกต้องการเป็นเจ้าของสินทรัพย์จริง ๆ หรือเปล่า”
นายทรงพลกล่าวว่า ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดซีเนียร์ เฮาซิ่ง มาได้ 4-5 เดือนแล้ว ดังนั้น ภายในสิ้นปี 2567 นี้ น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนในทิศทางที่จะดำเนินการต่อไปหลังจากนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กบข.มีสมาชิกทั้งสิ้นประมาณ 1.2 ล้านราย เงินกองทุนประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นเงินสำรองที่รัฐให้บริหารประมาณ 5 แสนล้านบาท และส่วนของสมาชิกประมาณ 8 แสนล้านบาท ขณะที่แต่ละปีจะมีสมาชิกเข้าใหม่ประมาณ 30,000-40,000 ราย และเกษียณเฉลี่ยประมาณ 30,000 ราย
“สมาชิก กบข. นอกจากจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุน คืออย่างน้อยที่สุดก็มีคนดูแลเรื่องการลงทุนให้ ขณะเดียวกัน เราดูแลสิทธิพิเศษด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การใช้ชีวิตของเขา การได้รับผลประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่เม็ดเงิน เราทำอะไรให้ได้ เราก็จะทำ รวมถึงเราเป็นที่ปรึกษาเรื่องอื่น ๆ ให้กับเขาได้ด้วย เช่น ภัยทางการเงิน การให้ความรู้ในเรื่องของการลงทุน การให้ความรู้เรื่องของสภาพที่เกี่ยวข้องกับเงิน ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ ความเสี่ยงต่าง ๆ เราก็ให้ความรู้ และสุดท้ายเป็นพาร์ตเนอร์ในเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวข้องกับการเงินให้กับสมาชิก”
เลขาธิการ กบข.กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของผลตอบแทนการลงทุนสำหรับสมาชิก และโอกาสในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ จะใช้คำว่า “เกษียณมีสุข” (Freedom for Living) เป็นเป้าหมายที่ กบข.อยากจะทำให้แก่สมาชิก แต่สำคัญที่สุดคือต้องร่วมมือกับ กบข.ด้วย เพราะหากสมาชิกไม่สะสมเพิ่มระหว่างทาง แม้ผลตอบแทนจะได้ตามเป้าหมาย แต่เงินก็จะไม่พอใช้หลังเกษียณอยู่ดี
“สมมติ กบข.ดำเนินการได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่ในเมื่อเงินที่สมาชิกสะสมในแต่ละเดือน ตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ คือรัฐให้ 3% สมาชิกลงอีก 3% รวมแล้วก็ได้ 6% แต่ว่าอีก 27% สมาชิกไม่เคยสะสมเลย เมื่อเปรียบเทียบอีกคนหนึ่งที่เขาลง 3% บวก 3% แล้วยังบวกอีก 10% แน่นอนว่าคนที่บวกเพิ่มอีก 10% ผลตอบแทนของเขาจะดีกว่า หมายถึงโดยรวมของเงินเขาจะมีมากกว่าคนที่ไม่ได้สะสม”