บสย.ดัน SMEs จี้แบงก์อนุมัติกู้ เร่งขอค้ำประกันสินเชื่อก่อนหมดโปร 30 มิ.ย.

บสย.กระตุ้นเอสเอ็มอีขอค้ำประกันสินเชื่อเร่งแบงก์อนุมัติปล่อยกู้ภายใน 30 มิ.ย. ชี้โค้งสุดท้ายใกล้หมดโปรฯ ฟรีค่าธรรมเนียม 7% นาน 4 ปี เร่งเครื่องเดือนสุดท้ายโครงการ PGS6 ระบุมีวงเงินเหลือ 1.9 หมื่นล้านบาท แจงโครงการต่อไป PGS7 เงื่อนไขสู้ PGS6 ไม่ได้ เหตุโฟกัสเฉพาะกลุ่ม เน้นช่วยเอสเอ็มอีทำ “บัญชีเล่มเดียว” พร้อมคาดคณะกรรมการสรรหาประกาศรับสมัครเอ็มดี บสย.คนใหม่เร็ว ๆ นี้

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.มีนโยบายที่จะไม่ต่ออายุโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) อีก หลังจากโครงการจะสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2561 นี้ โดยปัจจุบันยังมีวงเงินค้ำประกันคงเหลือราว 19,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีการใช้วงเงินทั้งหมดจะทำให้ยอดค้ำประกันรวมของ บสย. ในช่วงครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ราว 52,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 110,000 ล้านบาท ดังนั้นในระยะ 1 เดือนเศษที่เหลือนี้ ลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท หากต้องการใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อ และไม่อยากเสียโอกาส ก็ต้องเร่งติดต่อธนาคารให้อนุมัติวงเงินกู้ให้ภายในไม่เกินสิ้น มิ.ย.ดังกล่าว โดยเร่งส่งเอกสารตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.

ซึ่งปัจจุบันหลายธนาคารมีโครงการให้กู้แก่เอสเอ็มอี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างจูงใจ อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น ซึ่งแต่ละแบงก์จะใช้เวลาพิจารณาอนุมัติสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 7 วัน แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 15-20 วัน ขณะที่ บสย.จะอนุมัติค้ำประกันได้ภายใน 3 วัน

ทั้งนี้ บสย.มองว่า หากเอสเอ็มอีได้รับอนุมัติสินเชื่อก่อนจบโครงการ จะช่วยลดต้นทุนประกอบกิจการของเอสเอ็มอีได้มากพอสมควร เนื่องจากโครงการ PGS6 นี้ เอสเอ็มอีจะได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันถึง 4 ปี ปีละ 1.75% รวมแล้วได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม 7% เช่น กู้ 1 ล้านบาท ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม 70,000 บาท เป็นต้น

“PGS6 ปรับปรุงใหม่ จนถึง ณ วันนี้ มียอดค้ำประกันไปแล้วเกือบ 62,000 ล้านบาท จำนวนลูกค้าประมาณ 15,000 ราย เนื่องจากโครงการนี้เราค้ำประกันเฉลี่ยอยู่ที่รายละประมาณไม่เกิน 4 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลือก็น่าจะค้ำประกันให้ลูกค้าได้อีกราว ๆ 5,000 ล้านบาท ซึ่งต้องบอกว่าเราจะไม่ต่ออายุแล้ว หมดแล้วหมดเลย จึงไม่อยากให้ลูกค้าพลาดโอกาส ทั้งนี้ก็คิดว่าวงเงิน 19,000 ล้านบาท น่าจะค้ำประกันได้หมด เพราะแบงก์จะเร่งสินเชื่อกันในไตรมาส 2-3” นายวิเชษฐกล่าว

สำหรับโครงการ PGS6 นี้ถือเป็นโครงการที่มีเงื่อนไขดีที่สุดนับตั้งแต่จัดตั้ง บสย.ขึ้นมา ขณะที่โครงการ PGS7 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ที่จะออกมาหลังจากสิ้นสุด PGS6 ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงการคลัง แต่ยอมรับว่า เงื่อนไขคงไม่ดีเท่า PGS6 โดยจะกำหนดกลุ่มลูกค้าออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเอสเอ็มอีที่ทำบัญชีเล่มเดียว (นิติบุคคล) และกลุ่มเอสเอ็มอีทั่วไป (ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล)

“ความแตกต่างระหว่าง PGS6 ที่ปรับปรุงใหม่ กับ PGS7 จะอยู่ที่ PGS7 จะลงโฟกัสเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ขณะที่เรื่องค่าธรรมเนียมก็อาจจะไม่ได้เท่ากับ PGS6 ส่วนการเข้าไปรับความเสี่ยงของ บสย.ก็อาจจะน้อยกว่าเดิม” นายวิเชษฐกล่าว

นอกจากนี้ยังจะมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ที่จะค้ำประกันให้เอสเอ็มอีรายย่อย ซึ่งพยายามออกแบบให้ภาระผ่อนชำระต่องวดของผู้ประกอบการลดลง โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาเพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ คาดว่าจะออกมาในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้

นายวิเชษฐกล่าวด้วยว่า ขณะนี้คณะกรรมการ บสย.ได้อนุมัติให้มีการสรรหาผู้จัดการทั่วไป บสย.คนใหม่แล้ว โดยคาดว่าคณะกรรมการสรรหาจะมีการประกาศรับสมัครเร็ว ๆ นี้ จากนั้นกระบวนการทั้งหมดน่าจะใช้เวลาอีกราว 3 เดือน หรือประมาณเดือน ก.ย.