ดอลลาร์อ่อนค่า จับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐ
วันที่ 6 กันยายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 2-6 กันยายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (2/9) ที่ระดับ 34.04/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร (30/8) ที่ระดับ 33.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐโดยค่าเงินดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นหลังศุกร์ที่ผ่านมา (30/8) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยรายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่ตรงตามความคาดหมาย
โดยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.5% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.5% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ถือเป็นการปรับตัวขึ้น 0.2% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.1% ในเดือน มิ.ย.
ส่วนดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.6% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.2% ในเดือน มิ.ย. นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานในวันศุกร์ (30/8) ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐปรับขึ้นจาก 66.4 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดรอบ 8 เดือน สู่ 67.9 ในเดือน ส.ค. และรายงานยังเผยผลสำรวจการเลือกตั้งสหรัฐประจำเดือน ส.ค. ร่วมด้วย
โดยผู้บริโภค 54% คาดว่า กมลา แฮร์ริส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าขณะนายประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ 37% ส่วนการคาดการณ์อีก 36% ที่เหลือ คาดว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีการคาดการณ์ไว้ที่ 51% ในวันพุธ (4/9)
สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานที่เฟดให้ความสำคัญ ลดลง 237,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 7.67 ล้านตำแหน่งในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานคลี่คลายลง และอาจทำให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้
โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 49% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 18 ก.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 41% ก่อนที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐ ในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ทั้งนี้ ตลาดยังคงจับตาข้อมูลตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน ส.ค.ของสหรัฐ ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 164,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 4.2% ในเดือน ส.ค. จากระดับ 4.3 ในเดือน ก.ค.
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการเปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการเงินเดือน ก.ค. 67 ว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับดีขึ้นหลังชะลอลงในเดือนก่อน (มิ.ย. 67) ตามการฟื้นตัวของอุปสงส์ต่างประเทศ โดยการส่งออกสินค้า และรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว ส่วนด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน
ขณะที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เชื่อว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระ 2 และ 3 ในระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย. น่าจะผ่านความเห็นชอบของสภาฯ ได้อย่างไม่มีปัญหา โดยคาดว่าจะมีเสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 320 เสียง และสำหรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ น่ายวิสุทธิ์ขอให้ติดตามวันที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ส่วนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า เมื่อได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ และมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ก็จะสามารถใช้งบกลางปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท แจกให้กลุ่มเปราะบางได้ทันทีในเดือน ก.ย. ขณะเดียวกัน ก็ต้องรองบประมาณปี 2568 ที่จะนำมาใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
นอกจากนี้นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงในวันอังคาร (3/9) ว่ามีความมั่นใจถึงยอดการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวได้ 1-2% ในปีนี้ มีมูลค่าการส่งออกราว 2.9 แสนล้านดอลลาร์ โดยคาดการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 ยังสามารถเติบโตต่อเนื่องได้ไม่ต่ำกว่า 2% ส่วนไตรมาส 4 ยังมีสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ได้แก่ ยางพารา, ยางล้อรถยนต์, อาหารสัตว์เลี้ยง
โดยช่วงเวลาที่เหลืออยู่นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 67 จะต้องมียอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,800 ล้านดอลลาร์ แม้จะมีปัจจัยลบเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าที่คาดการณ์ว่าจะมีผลไปถึงต้นปี 68 เนื่องจากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในวันพฤหัสบดี (5/9) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ส.ค. 67 อยู่ที่ 108.79 หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 0.35% YOY
ขณะที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.40-0.48% แต่ชะลอลงจากเดือน ก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 0.83% การสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสด ผลไม้สด เนื่องจากปริมาณฝนตกหนัก และมีน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานราคาลดลง เช่น ค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำมันแก๊สโซฮอล์
ทั้งนี้ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 0.15% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ส.ค. 67 อยู่ที่ 105.06 หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.62% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YOY) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 0.44% สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาส 4/2567 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% อยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ 1-3%
โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 0-1% ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.51-34.33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/9) ที่ระดับ 33.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (2/9) ที่ระดับ 1.1052/53 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/8) ที่ระดับ 1.1075/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยผลสำรวจล่าสุดเปิดเผยรายงานในวันจันทร์ (2/9) ว่า ภาคการผลิตของเยอรมนี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องในเดือน ส.ค. 2567
โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดทายของเยอรมนีจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42.4 ในเดือน ส.ค. จากระดับ 43.2 ในเดือน ก.ค. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นที่ระดับ 42.1 ขณะที่ภาคการผลิตในยูโรโซนยังคงหดตัวต่อเนื่องในเดือน ส.ค. 2567 สอดคล้องกับอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบปี ส่งผลให้ความหวังในการฟื้นตัวในระยะอันใกล้นี้ริบหรี่ลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ซึ่งรวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล อยู่ที่ระดับ 45.8 ในเดือน ส.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นเล็กน้อยที่ระดับ 5.6
อย่างไรก็ตาม ดัชนีภาคการผลิตในยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ติดต่อกันกว่า 2 ปี สะท้อนถึงการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความหวังในการฟื้นตัวในระยะอันใกล้นี้ริบหรี่ลง รวมถึงนายฟรองซัวส์ วิลเลอรอย เดอ กัลโย สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (อีวีบี) และผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศส แสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนให้ธนาคารกลางยุโรปลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในการประชุมวันที่ 12 ก.ย. เพราะเศรษฐกิจยุโรปยังคงมีความอ่อนแอ
เช่น อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 2.2% ในเดือน ส.ค. ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้าหมาย ถ้าอีซีบีรอนานเกินไป ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1025-1.1119 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/9) ที่ระดับ 1.1109/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (2/9) ที่ระดับ 146.18/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/8) ที่ระดับ 145.18/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันจันทร์ (2/9) ว่า การใช้จ่ายด้านทุนของบริษัทญี่ปุ่นในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.ปีนี้ ปรับตัวขึ้น 7.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทญี่ปุ่นได้พยายามกระตุ้นกำลังการผลิต ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว
ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (5/9) กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลค่าแรงที่แท้จริงของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่เพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือน มิ.ย. แต่ยังสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 0.6% ส่วนค่าจ้างที่เป็นตัวเงิน เพิ่มขึ้น 3.6% สูงกว่าที่คาดการณ์เช่นกัน
ด้าน BOJ เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การเพิ่มขึ้นของค่าแรงจะเป็นตัวผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อให้ BOJ กลับมาดำเนินนโยบายการเงินแบบปกติ หลังจากที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษมาหลายสิบปี นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า BOJ จะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายใด ๆ ในการประชุม วันที่ 20 ก.ย.นี้ แต่อาจตัดสินใจปรับดอกเบี้ยระหว่างเดือน ต.ค. 2567-ม.ค. 2568 หลังจากที่ BOJ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งก่อนในเดือน ก.ค.
ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.29-147.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/9) ที่ระดับ 142.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ