FETCO ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” รับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐหนุน ดันเศรษฐกิจในประเทศฟื้น-การเมืองชัดเจน แนะจับตาดอกเบี้ยเฟด สถานการณ์ความตึงเครียดตะวันออกกลางมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
วันที่ 9 กันยายน 2567 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 สิงหาคม 2567) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index : ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 132.51 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”
นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และสัญญาณบวกจากความชัดเจนของการเมืองในประเทศ
ขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสภาวะเงินเฟ้อ
สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด เชื่อมั่นว่าหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ รองลงมาคือหมวดการแพทย์ หมวดพาณิชย์ และหมวดธนาคาร ขณะที่หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดยานยนต์ (AUTO)
ทั้งนี้ ผลสำรวจ ณ เดือนสิงหาคม 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 73.6% มาอยู่ที่ระดับ 144.26 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 28.4% มาอยู่ที่ระดับ 144.44 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 32.0% มาอยู่ที่ระดับ 120.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่ม 275.0% อยู่ที่ระดับ 125.00
ในช่วงครึ่งแรกของเดือนสิงหาคม 2567 SET Index มีความผันผวนและปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,300 จุด จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศจากผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อการยุบพรรคก้าวไกลและการถอดถอนนายกรัฐมนตรี ถึงแม้ว่าจะได้รับข่าวดีจากการประกาศ GDP ไทยในไตรมาส 2/2567 เติบโตสูงกว่าคาด โดยขยายตัวที่ 2.3% YOY ซึ่งได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก
อย่างไรก็ตาม SET Index ในช่วงครึ่งเดือนหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการเมืองเริ่มมีความชัดเจน โดยมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และออกแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐในการแจกเงินสด 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบางในโครงการ Digital Wallet รวมถึงท่าทีของ FED ต่อการลดดอกเบี้ย
โดย SET Index ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2567 ปิดที่ 1,359.07 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ 44,404 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 6,133 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 123,692 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ นโยบายการเงินของ FED ที่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า และสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งคาดหวังว่าจะกระตุ้นการลงทุน ซึ่งรวมถึงผลการออกกองทุนวายุภักษ์เพื่อกระตุ้นตลาดทุนไทย และสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือของไทยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว
ทั้งนี้ การปรับตัวของตลาดหุ้นไทยอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น จากกำลังซื้อที่เริ่มกลับเข้ามา อาทิ กองทุนวายุภักษ์ที่จะเริ่มดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย และมองว่าจะเป็นที่พึงพอใจสำหรับนักลงทุนรายย่อยอย่างยิ่ง โดยรวมจึงเชื่อว่าเม็ดเงินที่ได้รับจากกองทุนวายุภักษ์ รวมถึงกองทุน Thai ESG จะช่วยส่งเสริมให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงถัดไป
สำหรับเม็ดเงินลงทุนใหม่จากทั้ง 2 กองทุนข้างต้นที่จะเข้ามาเพิ่มกว่า 2.6-3 แสนล้านบาทนั้น จะขับเคลื่อนตลาดทุนไทยได้เพิ่มแน่นอน โดยเดิมแล้วสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) คาดว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1,379 จุด แต่ในวันนี้ทะลุ 1,420 จุด แล้ว และจากเดิมที่ในเดือน ก.ค. 2567 เคยคาดว่า ณ ปลายปี 2567 ดัชนีจะแตะที่ระดับ 1462 จุด นั้น ก็อาจต้องทำใหม่
ขณะที่มีการตั้งรัฐบาลใหม่ และมีจะมีการแถลงนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มองว่ามีความต่อเนื่องของนโยบาย เนื่องจากยังเป็นรัฐบาลชุดเดิม จึงจะเห็นการเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนโยบายการตั้งกองทุนวายุภักษ์ นโยบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ที่ยังคงเดินหน้าทำต่อเนื่องได้
“ผมเชื่อว่าความต่อเนื่องเป็นส่วนช่วยให้การขับเคลื่อนนโยบายเกิดขึ้นได้ แต่โจทย์ที่สำคัญคือจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยฐานล่างยังมีปัญหา ในจังหวัดต่าง ๆ กำลังซื้อยังไม่ดี หากดูหนี้เสีย (NPL) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งถือเป็นส่วนที่น่ากังวลใจมาก เนื่องจากรถยนต์เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญของประชาชน
จึงมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สำหรับกลุ่มเปราะบางก่อน เพื่อให้สามารถหมุนเศรษฐกิจโดยเร็วในระยะสั้นได้ถือว่าตอบโจทย์ ช่วยให้เม็ดเงินถึงมือประชาชนและให้สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ทันที และช่วยตอบโจทย์ปัญหาฐานรากที่กำลังอ่อนแอในปัจจุบันให้ได้รับแรงสนับสนุนบางส่วน
ทั้งนี้ ประเมินทิศทางเศรษฐกิจในประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4/2567 มองว่าตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. 67 จะเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าเศรษฐกิจภาพรวมยังไปได้ GDP 3% บวกลบ สะท้อนถึงว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงในระยะ 3-5 ปีจากนี้ ประเทศไทยต้องหาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยี หรือสตาร์ตอัพ เข้ามาสร้างจุดสนใจ เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาเรายังทำไม่สำเร็จ
“เรามียูนิคอร์นแค่ 3 ตัว ขณะที่เวียดนาม อินโดฯ แซงเราไปแล้ว และถ้าเขายังมุ่งไปสู่อนาคตแบบนี้ แต่เรายังมีปัญหา เราจะแข่งได้อย่างไร เราต้องหาทางว่าจะสร้าง Star ได้อย่างไร อยากดำเนินการให้ได้เกิด Superstar ตัวใหม่ และหา Superstar จากข้างนอกเข้ามาด้วย”
ขณะนี้ Sector ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทยคือปิโตรเคมี โดยเฉพาะ บมจ.ปตท. (PTT) ตัวเดียวก็มีสัดส่วนถึง 20-30% ของตลาด กลุ่มปิโตรเคมีเป็นกลุ่มที่นักลงทุนกังวลใจ เพราะเป็นอุตสาหกรรม Sunset จากปัญหาโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นมาก และกระบวนการของโลกที่จะเข้มงวดกับเรื่องนี้จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ สร้างผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มปิโตรเคมี
ขณะเดียวกัน กลุ่มแบงก์ที่มีน้ำหนักในตลาดหุ้นไทยราว 10% ก็มีอัพไซด์ไม่มากแล้ว เพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายเทคโยโลยี ฟินเทคฯ ทำให้เซอร์วิสการเงินดีขึ้น แต่ทำให้กลุ่มแบงก์ถูกท้าทายจากเทคโนโลยีสมัยใหม่