จับตา 3 ปัจจัย กนง. ทบทวนนโยบายการเงิน ชี้เงินเฟ้อเข้ากรอบปลายปี

วิจัยกรุงศรีประเมินเงินเฟ้อทั่วไป ทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% เหตุฐานราคาน้ำมัน-ปัจจัยอุทกภัยหนุนราคาเกษตรสูงขึ้น คาด กนง.คงดอกเบี้ยตลอดทั้งปีที่ระดับ 2.50% ต่อปี จับตา 3 ปัจจัยให้ กนง.ทบทวนนโยบายการเงิน

วันที่ 10 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรีระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมชะลอลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน แต่เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น

คาด กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 0.35% YOY ชะลอลงจาก 0.83% ในเดือนกรกฎาคม ผลจากราคาสินค้าในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ปรับลดลง (-0.68%) ตามการลดลงของราคาสินค้าสำคัญในหมวดพลังงานและหมวดเคหสถาน อาทิ แก๊สโซฮอล์ ค่ากระแสไฟฟ้า

ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับเพิ่มขึ้น (+1.83%) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด เนื่องจากปริมาณผลผลิตได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยในบางพื้นที่เพาะปลูก

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.62% เพิ่มขึ้นจาก 0.52% ในเดือนกรกฎาคม สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี (มกราคม-สิงหาคม) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.15% และ 0.44% ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคม แม้ชะลอลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน แต่คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มปรับขึ้นและทยอยกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-3% ได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ADVERTISMENT

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของราคาน้ำมันดีเซลที่ต่ำในปีก่อนที่ 30 บาทต่อลิตร เทียบกับปัจจุบันที่กำหนดเพดานที่ 33 บาทต่อลิตร

นอกจากนี้ สถานการณ์อุทกภัยในบางพื้นที่เพาะปลูกอาจส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรบางประเภทปรับสูงขึ้นได้ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ADVERTISMENT

สำหรับมุมมองด้านดอกเบี้ยนโยบาย วิจัยกรุงศรีคาดว่า กนง.มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% จนถึงสิ้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจอาจได้แรงหนุนเพิ่มจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ในเดือนกันยายนนี้ อย่างไรยังคงต้องติดตาม

1.ประเด็นที่ กนง.แสดงความกังวลไว้เกี่ยวกับภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการเงิน

2.แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และแรงกดดันจากการลดดอกเบี้ยในภูมิภาค (peer pressure)

3.มาตรการทางการคลัง ประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลให้ กนง.อาจมีการทบทวนการดำเนินนโยบายทางการเงินในระยะข้างหน้าได้

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 8 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 23.6 ล้านคน ทั้งปีวิจัยกรุงศรี ยังคงคาดการณ์ไว้ที่จำนวน 35.6 ล้านคน กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬารายงานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนสิงหาคม 2.96 ล้านคน ขยายตัว 20.1% YOY ลดลงเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคมที่ 3.1 ล้านคน

ทั้งนี้ ช่วง 8 เดือนแรกของปี มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยรวมทั้งสิ้น 23.6 ล้านคน ขยายตัว 23.9% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 4.79 ล้านคน มาเลเซีย 3.28 ล้านคน อินเดีย 1.36 ล้านคน เกาหลีใต้ 1.25 ล้านคน และรัสเซีย 1.08 ล้านคน

ภาคท่องเที่ยว ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มฟื้นตัวเข้าใกล้สู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วคิดเป็น 89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 (ก่อนเกิดการระบาดโควิด)

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย กลับมาสูงใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว (100-125%) ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนแม้มีจำนวนมากสุด แต่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิดยังอยู่ที่ประมาณ 63%

ส่วนรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 1.11 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89% ของช่วงเดียวกันในปี 2562

สำหรับในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี คาดว่ามีโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเฉลี่ยราว 3 ล้านคนต่อเดือน โดยมีปัจจัยหนุนจากมาตรการขยายวีซ่าฟรีให้แก่ 93 ประเทศ ประกอบกับมีช่วงวันหยุดยาวของจีน (Golden Week) และการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของท่องเที่ยว วิจัยกรุงศรีจึงยังคงคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะอยู่ที่ 35.6 ล้านคน