
บริษัทจดทะเบียนไทย ไล่ซื้อหุ้นคืน 8 เดือนแรกปีนี้มูลค่าถึง 1.3 หมื่นล้าน โบรกเกอร์ชี้ “พยุงราคา-ฟื้นเชื่อมั่น-บริหารเงินสดในมือ”
วันที่ 11 กันยายน 2567 ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการติดตามแนวโน้มของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่หันมาซื้อหุ้นคืน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องของบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงดัชนีหุ้นไทย (SET I์ndex) ปรับลดลงมาก
โดยในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้พบว่า บริษัทจดทะเบียนไทยมีมูลค่าการซื้อหุ้นคืนถึง 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการซื้อหุ้นคืนยังช่วยส่งสัญญาณให้ผู้ลงทุนทราบว่าผู้บริหารมีความมั่นใจว่าราคาหุ้นในปัจจุบันถูกประเมินต่ำกว่าพื้นฐานที่แท้จริง จึงกระตุ้นความต้องการซื้อหุ้นในตลาด ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น
“ถือว่าเห็นสัดส่วนการซื้อหุ้นคืนค่อนข้างมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยนอกจากกลุ่ม SET50 แล้ว พบว่าบริษัทจดทะเบียนไทยขนาดเล็กก็มีมูลค่าการซื้อหุ้นคืนสูง จึงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำลังติดตามดูอยู่”
พยุงหุ้น-ฟื้นเชื่อมั่น-บริหารเงินสด
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า 3 เหตุผลสำคัญที่บริษัทจดทะเบียนประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน คือ 1.ส่งสัญญาณให้นักลงทุนในตลาดทราบว่าตอนนี้ราคาหุ้นของบริษัทต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมากเกินไป จากภาวะตลาดหุ้นไทยไม่ดี 2.ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และ 3.ต้องการบริหารเงินสดของบริษัท จากที่ไม่เห็นโอกาสในการลงทุนเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว
“แต่ละบริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนได้ตลอด อยู่ที่เห็นว่าราคาหุ้นถูกเกินไปแล้วหรือยัง แต่จะต้องขอมติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยไม่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งที่บริหารเงินสด และทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าเงินสดที่บริษัทมีอยู่มาก กระจายให้นักลงทุนผ่านการซื้อหุ้นคืน ที่อาจทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีจ่ายเงินปันผลพิเศษ ซึ่งจะโดนเสียภาษี 10%”
โครงการซื้อหุ้นคืน แต่ละบริษัทจะประกาศจำนวนหุ้นซื้อคืน แต่จะไม่บอกราคาเพราะจะเป็นการชี้นำ และกำหนดกรอบเวลาซื้อคืน อาทิ 3 เดือน, 6 เดือน และ 9 เดือน แต่นักลงทุนจะชอบระยะเวลาสั้น ๆ มากกว่า เพราะบริษัทต้องเร่งซื้อคืน โดยตัวอย่างบริษัทที่ซื้อหุ้นคืนแล้วราคาหุ้นดีดตัวขึ้นได้ดี คือ SSP, PRM เพราะซื้อคืนทุกวันและซื้อในจำนวนที่เร่งขึ้น ส่วนกรณี BEM ที่ซื้อ ๆ หาย ๆ ทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นไม่มาก
นายณัฐพลกล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องรู้ก็คือว่า เมื่อบริษัทซื้อหุ้นคืนเสร็จสิ้นตามประกาศ จะถือหุ้นดังกล่าวได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น คืออย่างน้อย 6 เดือน และไม่เกิน 3 ปี ต้องขายออกไปในกระดานของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือขายบิ๊กลอตแก่นักลงทุนรายใหญ่ หรือเสนอขายผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ที่เป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจ โดยถ้าไม่นำหุ้นกลับมาขาย ก็ต้องลดทุนด้วยการตัดหุ้นจดทะเบียนที่ซื้อคืนทิ้งไป ซึ่งแนวทางนี้นักลงทุนจะชอบมากกว่า เพราะหนุนกำไรต่อหุ้น (EPS) ปรับตัวขึ้น จากจำนวนหุ้นที่ลดลง แต่ต้องเป็นบริษัทที่มีเงินสดมากจริง ๆ เพราะการตัดหุ้นทิ้งไป เงินก็หายไปด้วย
กระทบฟรีโฟลต-เงินหมุนเวียน
ด้านนายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การซื้อหุ้นคืนโดยปกติ ปัจจัยหลักเพื่อพยุงราคาหุ้น จากที่ปรับตัวต่ำเกินไปมาก ซึ่งแต่ละบริษัทจะนำเงินสดไปซื้อหุ้นตัวเองจากผู้ถือหุ้นอื่น ๆ มาเก็บไว้เอง ทำให้จำนวนหุ้นที่ซื้อขายในตลาดลดลง ซึ่งการประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนมักจะประกาศช่วงที่ดัชนี SET ปรับตัวลง และราคาหุ้นของบริษัทนั้น ๆ ลงมาในจุดที่เห็นว่าเป็นโซนราคาที่ไม่ควรจะลงไปต่ำกว่านี้แล้ว
ประเด็นตรงนี้สะท้อนข้อดี คือ 1.บ่งชี้ว่าผู้บริหารมีความมั่นใจต่อบริษัทของตัวเอง และ 2.ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังคือ ด้วยความที่บริษัทนำเงินสดมาซื้อ อาจจะเสียโอกาสในการลงทุนกิจการหรือขยายธุรกิจ และสภาพคล่องของสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (ฟรีโฟลต) ของหุ้นตัวนั้น ๆ จะลดลง ตรงนี้จะส่งผลต่อหุ้นในกระดาน รวมทั้งมีผลต่อเงินหมุนเวียนในงบดุลของบริษัทด้วย
“ส่วนใหญ่แล้วบริษัทจดทะเบียนจะใช้เงินสดในกิจการมาซื้อหุ้นคืน ไม่ค่อยกู้เงินเพื่อมาซื้อ เพราะเมื่อซื้อไปแล้วต้องถืออย่างน้อย 6 เดือน ถ้าเกิดไปกู้มาก็ต้องเสียดอกเบี้ยอีก” นายธนกฤตกล่าว