
เงินบาทแข็งค่า รอจับตาดีเบตสหรัฐ ระหว่างนางคาเมลา แฮร์ริส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ คู่ชิงจากพรรครีพับลิกัน
วันที่ 10 กันยายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 10 กันยายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.88/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/9) ที่ระดับ 33.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลัง Dollar Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 101.70 สอดคล้องกับการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อคืนนี้
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาเปิดเผยว่าแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.5% ในไตรมาส 3/2567 นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าสต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% หลังจากทรงตัวในเดือน มิ.ย. และเมื่อเทียบเป็นรายปี สต๊อกสินค้าคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ค.
ทั้งนี้นักลงทุนมีมุมมองต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. เหลือเพียงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% มากขึ้นโดยนักลงทุนรอจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน ส.ค. ของสหรัฐ ในวันพุธนี้ (11/9) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือน ส.ค.ในวันพฤหัสบดี (12/9) ก่อนที่การประชุมนโยบายการเงินของเฟดจะมีขึ้นในวันที่ 17-18 ก.ย.
ขณะที่เฟดได้เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) แล้วก่อนการประชุมในสัปดาห์หน้า นอกเหนือจากข้อมูลเงินเฟ้อแล้วนักลงทุนยังรอจับตาการประชันวิสัยทัศน์หรือการดีเบตระหว่างนางคาเมลา แฮร์ริส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ คู่ชิงจากพรรครีพับลิกัน ในเวลา 21.00 น. ของวันอังคารที่ 10 ก.ย.ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 08.00 น. ของวันพุธที่ 11 ก.ย. ตามเวลาไทย
โดยการดีเบตครั้งแรกนี้จัดโดยสถานีโทรทัศน์เอบีซี ซึ่งคาดว่าหัวข้อการดีเบตจะครอบคลุมถึงประเด็นเศรษฐกิจและการย้ายถิ่นฐาน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.76-33.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.80/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/9) ที่ระดับ 1.1031/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/9) ที่ระดับ 1.1048/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในระหว่างวันสำนักงานสถิติเยอรมนีได้มีการเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่สองว่าเงินเฟ้อเดือน ส.ค. 2567 ของเยอรมนีลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบวกให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้
โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนีที่ปรับค่าให้ใช้เทียบเคียงกับประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป (EU) ชะลอตัวลงเหลือเพียง 2.0% ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากราคาพลังงานที่สุดลง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0127-1.1049 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1034/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยุโร
ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/9) ที่ระดับ 143.42/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/9) ที่ระดับ 143.61/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในระหว่างวันสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลญี่ปุ่น (Japan Machine Tool Builders’ Association JMTBA) ได้มีการรายงานยอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลญี่ปุ่นจากทั่วโลกในเดือน ส.ค. 2567 มีมูลค่าลดลง 3.5% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าในเดือน ก.ค.ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.4% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.85-143.71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 143.28/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดการเปลี่ยนแปลงในจำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการเดือน ส.ค.ของอังกฤษ (10/9), ดัชนี CPI ของเยอรมนีเดือน ส.ค. (10/9), ตัวเลขดุลการค้าเดือน ส.ค. ของจีน (11/9), ตัวเลข GDP เดือน ก.ค. ของอังกฤษ (11/9), ดัชนี CPI ของสหรัฐ (11/9), แถลงการณ์นโยบายการเงินของ ECB (12/9), ดัชนี PPI เดือน ส.ค. ของสหรัฐ (12/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ครั้งแรกของสหรัฐ (12/9), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิกนเดือน ก.ย. (13/9), และการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปี ของรัฐมิชิแกนเดือน ก.ย. (13/9)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในปรเทศ อยู่ที่ -9.1/8.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8/-6.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ