ดอลลาร์แข็งค่า รับ CPI สูงกว่าคาดการณ์เล็กน้อย

เงินดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: REUTERS/Dado Ruvic/

ดอลลาร์แข็งค่า รับ CPI สหรัฐ สูงกว่าคาดการณ์เล็กน้อย ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค. 67 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เหตุกังวลภาวะศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวและฟื้นตัวช้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (12/9) ที่ระดับ 33.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (11/9) ที่ระดับ 33.67/33.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ส.ค. โดยที่ดัชนีราคาผู้บริโภค ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% หลังจากปรับตัวขึ้น 2.9% ในเดือน ก.ค.

ในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 3.2% ในเดือน ก.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน ส.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.2% ในเดือน ก.ค.

นอกจากนี้ ผลการสำรวจของสำนักข่าว CNN พบว่า นางคามาลา แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครตในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ สามารถคว้าชัยชนะเหนือนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ในการประชันวิสัยทัศน์ หรือดีเบตที่จัดขึ้นในช่วงเช้านี้ ตามเวลาในไทย

ทั้งนี้ผลการสำรวจพบว่า นางแฮร์ริสคว้าชัยชนะขาดลอยด้วยคะแนน 63% ต่อ 37% เมื่อเทียบกับคะแนน 50% ต่อ 50% ก่อนการดีเบต

Advertisment

ด้านปัจจัยภายในประเทศ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยระบุว่านโยบายระยะกลางและระยะยาว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน วางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคตโดยย้ำฐานการเป็นยานยนต์ไฟฟ้า คู่การสนับสนุนยานยนต์แห่งอนาคต ต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ ดันเศรษฐกิจดิจิทัล Care and Wellness รวมทั้งการส่งเสริมการเป็นศูย์กลางทางการเงินของภูมิภาค

อย่างไรก็ดี ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค. 67 เปิดเผยโดย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 56.6 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 66 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะศรษฐกิจไทย ที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่

Advertisment

ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 47.7 นั้น อยู่ระดับต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แสดงให้เห็นว่าดัชนีเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ไม่ปกติ ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชน มองเห็นการชะลอที่ชัดเจนของการบริโภค จากคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น

ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.67-33.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.74/33.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้านี้ (12/9) ที่ระดับ 142.47/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (11/9) ที่ 141.60/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่า ข้อมูลจาก BOJ ระบุว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) นั้น ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่าชะลอตัวลงจากเดือน ก.ค.ที่ขยายตัว 3.0% และตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.8%

สำหรับปัจจัยด้านอื่น ๆ นายนาโอกิ ทามูระ หนึ่งในกรรมการของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า BOJ จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1% เป็นอย่างมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ อุเอดะยังส่งสัญญาณว่า BOJ พร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง หากเงินเฟ้อผู้บริโภคยังคงมีแนวโน้มจะแตะ 2% ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทางคณะกรรมการ ว่าอัตราเงินเฟ้อจะได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของค่าจ้างที่แข็งแกร่ง

ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.22-143.04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 142.65/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/9) ที่ระดับ 1.1008/1.1009 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (11/9) ที่ 1.1039/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงแตะระดับ 2.2% ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวขึ้นแตะระดับ 2.8% เนื่องจากเงินเฟ้อในภาคบริการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดการเงินคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในการประชุมวันนี้ ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1004-1.1023 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1017/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ แถลงการณ์นโยบายการเงินของ ECB (12/9), ดัชนี PPI เดือนสิงหาคม ของสหรัฐ (12/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ครั้งแรกของสหรัฐ (12/9), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนเดือนกันยายน (13/9), และการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปี ของรัฐมิชิแกนเดือน กันยายน (13/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.0/-7.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.9/-7.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ