สภาทนาย แก้หนี้ประกันเจ๊ง ตัวกลางเจรจา “แฮร์คัต” แลกคืนเงินเร็ว

ดร.วิเชียร ชุบไธสง
ดร.วิเชียร ชุบไธสง

สภาทนายความรับเป็นตัวกลางเจรจาเจ้าหนี้บริษัทประกันเจ๊ง หาทางออก “แฮร์คัตหนี้” ชี้ 8 บริษัทที่ถูกเพิกถอน มีมูลหนี้รวม 8 หมื่นล้าน เจ้าหนี้ราว 1.2 ล้านราย พร้อมตั้งคณะทำงานศึกษาแก้ปมข้อกฎหมายที่ติดขัด ฟาก “กปว.” ลุยจ้างที่ปรึกษาศึกษาหาทางออกด้วย

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า ได้มีตัวแทนของผู้เอาประกันภัยโควิด-19 พร้อมรายชื่อผู้เสียหายกว่า 4 แสนราย ที่ไม่ได้รับการชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจากการที่บริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต เข้ามาร้องขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความตั้งแต่เดือน พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้ไปร้องเรียนหลายหน่วยงานแล้ว แต่ยังไม่เป็นผล ทางสภาทนายความจึงได้รับเรื่องเอาไว้ เพราะเข้าเงื่อนไขเป็นประโยชน์สาธารณะ

“สภาทนายความได้ประชุมกับกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยนายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุน ค่อนข้างใส่ใจในการจะแก้ทุกปัญหา เพื่อนำไปสู่การชำระหนี้ แต่ปัญหาคือ กปว.ไม่มีเงินเพียงพอ มาจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ประกันได้ทั้งหมด เพราะเหลือเงินอยู่ไม่เกินพันล้านบาท แต่มีมูลหนี้ต้องจ่ายหลายหมื่นล้านบาท” ดร.วิเชียรกล่าว

โดยในแง่กฎหมาย มีทางออกอยู่หลายทาง อาทิ จากรายได้กองทุนปีละกว่าพันล้านบาท และทรัพย์สินของบริษัทสินมั่นคงประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต มีเหลืออยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาท และหากกองทุนสามารถกู้เงินหรือออกตราสารได้ 10,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลค้ำประกัน หรือรัฐบาลให้เงินอุดหนุนประมาณ 20,000 ล้านบาท และเปิดการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ (รัฐบาล) เชื่อว่าเจ้าหนี้บางส่วนจะยอมลดหนี้ให้ได้

ทั้งนี้ จากการประชุมกับเจ้าหนี้บางส่วนประมาณ 300 ราย เพื่อกำหนดแนวทางเจรจากับลูกหนี้ มีความเห็นที่ค่อนข้างหลากหลาย บางกลุ่มยอมลดหนี้ให้ 30-50% หากรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนว่า จะจ่ายหนี้ได้เร็ว เช่น ภายใน 2-3 เดือน แต่บางกลุ่มขอ 100% เพราะรอมานาน ดังนั้น ในเบื้องต้นทางสภาทนายความอาจจะต้องแยกกลุ่มเจ้าหนี้ออกมาก่อน ซึ่งได้มีการแนะนำให้ไปรวบรวมรายชื่อเจ้าหนี้ทั้งหมดส่งมาให้สภาทนายความเป็นผู้เจรจาทีเดียวและหาข้อยุติ ก่อนจะมีข้อเสนอไปสู่รัฐบาล

“เราจะเป็นตัวกลางในการเป็นผู้ประสานระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ทั้งนี้ มองว่ารัฐบาลต้องลงมาแก้ไขปัญหาในกรณีนี้อย่างจริงใจและจริงจัง ซึ่งการแก้ปัญหาช้าอาจลามไปถึงเรื่องอื่นได้ และอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบประกันวินาศภัยลงไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม จากการร้องเรียนของเจ้าหนี้ต่อสภาทนายความ จะถือเป็นโอกาสสุดท้ายในการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมาย เพราะมองว่าทุกสิ่งในโลกนี้สามารถที่จะจบได้ด้วยการเจรจา”

ADVERTISMENT

นายอำนาจ มาตรง ที่ปรึกษาสภาทนายความ กล่าวว่า ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายของหน่วยงานราชการที่ไม่สามารถประนีประนอมลดหนี้กับทางเจ้าหนี้ได้ ทางสภาทนายความจึงได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาทางเทคนิคทางกฎหมายที่ กปว.ติดขัด เนื่องจากตามกฎหมายกองทุนจะคุ้มครองเจ้าหนี้สูงสุดรายละ 1 ล้านบาท

“ถ้าอยากจะจบด้วยการประนีประนอม ซึ่งอาจจะได้รับเงินเร็ว และพึงพอใจทุกฝ่าย แผนในเบื้องต้นคือ สภาทนายความจะรวบรวมเจ้าหนี้ทั้งหมด และจะเสนอว่า หากรัฐบาลมีกำหนดการจ่ายเงินที่ชัดเจนแน่นอน สภาทนายความในฐานะตัวแทนเจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายพูดคุยเรื่องลดหนี้ให้เอง

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ในส่วนการติดขัดเรื่องการค้ำประกันหรือการสนับสนุนเงินสมทบตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ขณะนี้ทีมสภาทนายความกำลังศึกษาเพื่อแก้ไขหรือปรับปรุงอนุบัญญัติ เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคเหล่านี้และจะเสนอให้พิจารณา” นายอำนาจกล่าว

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) กล่าวว่า ขณะนี้กองทุนได้เจรจาว่าจ้างบริษัทกฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ในการศึกษาหาทางออกเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งหาก FA รายนี้ไม่ถอย ก็จะรีบเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกองทุน (บอร์ด) ภายในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อว่าจ้างให้เร่งศึกษา ซึ่งคาดว่ากระบวนการศึกษาจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

“ประเด็นหลัก ๆ ที่ศึกษา คือ 1.การแก้ไขกฎหมายโดยไม่ต้องแก้ระดับ พ.ร.บ. อาจจะออกเป็น พ.ร.ก. ได้หรือไม่ 2.แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน 3.แหล่งที่มาของเงินเพื่อชำระหนี้ และรายได้จากเงินสมทบต้องขยับเพิ่มขึ้นหรือไม่ และ 4.ระยะเวลาชำระหนี้ ถ้าในกรณีเจ้าหนี้บางกลุ่มยอมลดหนี้และบางกลุ่มไม่ยอมลดหนี้ จะชำระอย่างไร” นายชนะพลกล่าว

สำหรับมูลหนี้ของ 8 บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต มีจำนวนทั้งสิ้น 80,000 ล้านบาท จำนวนเจ้าหนี้ 1.2 ล้านราย โดย 7 บริษัท ได้แก่ สัมพันธ์ประกันภัย, เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์, เจ้าพระยาประกันภัย, เอเชียประกันภัย 1950, เดอะ วัน ประกันภัย, อาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย มียอดหนี้ค้างจ่ายรวม 48,394 ล้านบาท จำนวนเจ้าหนี้ 552,484 ราย

ส่วนบริษัทสินมั่นคงประกันภัย มียอดหนี้ค้างจ่าย 32,184 ล้านบาท คาดว่าเจ้าหนี้จะยื่นคำทวงหนี้ประมาณ 800,000-1,000,000 ราย อย่างไรก็ดี คาดว่าจะสรุปตัวเลขที่ชัดเจนได้หลังวันที่ 7 พ.ย. 2567 ซึ่งครบ 60 วันในการเปิดให้ยื่นคำทวงหนี้