
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า ผู้เขียน : กอบสิทธิ์ ศิลปชัย, ซาร่า ผลพิบูลย์ ธนาคารกสิกรไทย
เคลื่อนเข้าสู่ช่วงปลายปี คงปฎิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์สำคัญที่ทั่วโลกเฝ้าติดตามก็คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งแม้โพลสำรวจในปัจจุบัน (ณ ต้นเดือนกันยายน) จะชี้ว่านางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต จะมีคะแนนนิยมนำอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรคริพับลิกัน แต่ผลการเลือกตั้งจริงก็คาดเดาได้ยาก และทรัมป์ก็ยังมีโอกาสสูงที่จะได้รับชัยชนะ
ภาพจำในอดีตทั้งการขึ้นกำแพงภาษีการค้าและความตึงเครียดการค้ากับจีนที่รุนแรงยังคงวงเวียนหลอกหลอน โดยเฉพาะเมื่อทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีกับจีนเพิ่มเติมอีก 60% และเพิ่มเติม 10% สำหรับคู่ค้าอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนรวมถึงไทยด้วย หากทรัมป์ได้รับชัยชนะเป็นสมัยที่สอง
ขณะที่หากเป็นนางแฮร์ริสที่ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดี นโยบายการค้าประเมินว่าจะยังคงคล้าย ๆ ปัจจุบัน และความสัมพันธ์กับจีน แม้จะไม่ได้ดีขึ้น แต่ก็คงจะไม่เลวร้ายจากตอนนี้นัก ด้วยภาษีนำเข้าน่าจะคงไว้ที่ระดับเดิม เพียงแต่อาจเห็นการกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ของจีนที่เข้มงวดมากขึ้น
รวมถึงต้องจับตาท่าทีในประเด็นสงครามและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงขึ้น
หากมองดูผลกระทบที่เกิดขึ้นในแง่ของการค้าจากการขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนเมื่อ 5 ปีก่อนของทรัมป์ แน่นอนจีนได้รับผลกระทบหนักที่สุด การส่งออกสินค้าของจีนไปยังสหรัฐเติบโตลดลงอย่างชัดเจน
ขณะที่เวียดนามได้รับผลดีมากที่สุด ด้วยเห็นการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้านไทยเองก็ได้รับผลดีไม่แพ้เวียดนาม การส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐเร่งตัวขึ้นชัดเจน จากการส่งออกสินค้าทดแทนจีน ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ ไทยจะยังได้รับผลดีหากมีการขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหม่หรือไม่
ด้วยศักยภาพการผลิตของไทยที่อ่อนแอลงมากนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ขณะที่โลกเองก็มีความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นต้องการสินค้าที่เป็นเทคโนโลยีขั้นที่สูงขึ้น เช่น เดิมโลกต้องการฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) และรถยนต์สันดาป ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย
แต่ปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่เรียกว่าซอลิดสเตตไดรฟ์ (SSD) และรถยนต์ไฟฟ้า ที่ไทยยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการผลิต ซึ่งยังไม่นับรวมถึงค่าแรงของไทยที่ค่อนข้างแพงโดยเปรียบเทียบกับประเทศข้างเคียง
ดังนั้น คงเป็นการยากที่ไทยจะได้รับผลดีอย่างที่เคยในช่วงทรัมป์สมัยแรก หากไทยยังไม่รีบลงทุนพัฒนาศักยภาพในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีให้ทันกับโลก และจะยังคงพ่ายแพ้ให้กับเวียดนามต่อไป
ในแง่ของค่าเงิน เงินบาทในช่วงของทรัมป์สมัยแรก (2017-2021) อยู่ในแนวโน้มแข็งค่า สวนทางกับหลาย ๆ สกุลเงินสำคัญ ด้วยแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทยปีละราว 40 ล้านคน ซึ่งช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี คงเป็นการยากที่จะได้เห็นเงินบาทแข็งค่าซ้ำรอยอดีต ด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงห่างไกลระดับ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่มาก ท่ามกลางรายรับจากนักท่องเที่ยวที่ยังต่ำกว่าก่อนโควิด ขณะที่สินค้าส่งออกของไทยเริ่มไม่เป็นไปตามที่โลกต้องการแล้ว และจำเป็นต้องได้รับการพัฒนายกระดับเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น