ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย 8 เดือนแรกปีนี้ “ปิดกิจการ” 10,000 ราย เปิด 3 ธุรกิจปิดตัวสูงสุด อีไอซีเสนอ 4 นโยบายช่วยยกระดับการแข่งขันเอสเอ็มอีไทย
วันที่ 13 กันยายน 2567 นางสาวฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การระบาดโควิด-19 มองความท้าทายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย น่าจะเพิ่มขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้น โดยข้อมูลการปิดกิจการของธุรกิจ SMEs ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 มีอยู่ประมาณ 10,000 ราย (อ้างอิงข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) โดยภาคอีสานและภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงสุด สะท้อนจากสัดส่วนธุรกิจที่ปิดกิจการเทียบกับธุรกิจที่มีอยู่
และหากมองลึกลงไปในรายอุตสาหกรรมพบว่า 3 ประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนการปิดกิจการสูงสุดคือ 1.ธุรกิจประมง กลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการ IUU ที่มีการเข้มงวดมาตรฐานการจับสัตว์น้ำมากขึ้น
2.ธุรกิจผู้ผลิตเหล็กและจำหน่ายเหล็ก จากผลกระทบที่สินค้าจีนมาตีตลาดในไทย
และ 3.ธุรกิจโรงพิมพ์ จากเรื่องของ Digitalization ที่พฤติกรรมผู้บริโภคหันมารับชมสื่อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
โดยอีไอซีได้มีการจัดทำเซอร์เวย์ผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวมเห็นว่าความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ประมาณ 70% ของกลุ่มตัวอย่างยังค่อนข้างมีความกังวลและไม่เชื่อมั่นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังของปี 2567 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2568 ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มีความกังวลสูงสุดคือ เรื่องกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่เข้ามากดดันบรรยากาศการจับจ่ายให้ฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าที่คาด
นอกจากนี้ยังเห็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่เข้ามาซ้ำเติมผู้ประกอบการบางอุตสาหกรรม ซึ่งนั่นคือความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากมีสินค้านำเข้ามาตีตลาดในประเทศ แย่งส่วนแบ่งลูกค้าไป โดยผู้ประกอบที่เผชิญปัญหานี้รุนแรงที่สุด เช่น โรงงานเหล็ก, ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์, อาหารและเครื่องดื่ม
นางสาวฐิตากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจที่กระทบต่อเอสเอ็มอีไทย แต่พบว่ายังมีความท้าทายจากปัจจัยภายในที่เผชิญ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็เผชิญร่วมกัน โดย 95% ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า 3 เรื่องที่มีความกังวลและกดดันศักยภาพในการทำธุรกิจมากที่สุดคือ 1.ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการดำเนินงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูง 2.พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 3.กลยุทธ์การผลิตและการตลาดที่ล่าสมัย ทำให้เอสเอ็มอีไทยอาจมีแนวโน้มฟื้นช้ากว่าคาด
ทั้งนี้มองในระยะข้างหน้าปัญหาเหล่านี้อาจจะมีความรุนแรง แก้ไขและควบคุมได้ยาก เพราะพบ 4 ประเด็นจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้คือ 1.ต้นทุนพลังงานที่น่าจะผันผวน 2.ต้นทุนค่าแรงที่กำลังจะปรับสูงขึ้น 3.สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และ 4.ปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายเข้าไปในท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้เอสเอ็มอีแข่งขันได้ยากขึ้น รวมถึงยังเน้นแข่งขันด้านราคา ที่ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจด้อยลงอย่างต่อเนื่อง
โดยมาตรการระยะสั้นที่เอสเอ็มอีไทยต้องการคือ ให้ภาครัฐและภาคการเงินมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น โดยเฉพาะการทำให้บรรยากาศการจับจ่ายกลับมาคึกคัก โดยภาคการผลิตบางส่วนมองว่ามาตรการส่งเสริมการส่งออกก็เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ เพื่อได้ลูกค้าใหม่ ๆ เพื่อหลีกหนีจากการแข่งขันในประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ขณะที่ภาคบริการพบว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรวมถึงขายวัสดุก่อสร้าง ตอนนี้อยากให้ภาครัฐมีความชัดเจนเรื่องนโยบายการลงทุน เร่งลงทุนเบิกจ่ายภาครัฐ เพื่อให้รายได้ทยอยกลับมาต่อเนื่อง
อีไอซีประเมินว่าสิ่งที่ควรดำเนินการควบคู่กันไปกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจคือ นโยบายเชิงโครงสร้างที่จะช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีไทยได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตอบโจทย์และเพียงพอ รวมถึงหันมาให้เอสเอ็มอีไทยสร้างเอกลักษณ์และยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์
โดยแนวทางเบื้องต้นที่แนะนำคือ 1.กำหนดโควตาการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจาก SMEs ในท้องถิ่นให้มีความชัดเจน โดยมองว่ามาตรการนี้จะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยหันมาแข่งขันด้านคุณภาพมากขึ้น เพื่อเข้าไปเป็นห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจขนาดใหญ่
2.มาตรการสิทธิการลดหย่อนภาษีจากการซื้อเครื่องจักรและรายจ่ายการอบรมแรงงาน เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะที่เผชิญอยู่ 3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนที่ตอบโจทย์เรื่องเป้าหมาย ESG ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้ และ 4.กระจายโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ต่าง ๆ สู่จังหวัดเมืองรอง เพราะปัจจุบันมีต้นทุนสูงทั้งระยะเวลาและการเดินทาง