
ธปท.มองไทยเลิกล่าการเติบโตจีดีพี หลังสวนทางความมั่งคั่งครัวเรือนไม่โต แนะเร่งสร้างการเติบโตท้องถิ่นสากลเชื่อมตลาดโลก-ลดนโยบายกระจายความเจริญแต่ไม่ดูศักยภาพ
วันที่ 13 กันยายน 2567 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” ที่จัดโดยสำนักข่าว Thaipublica ในหัวข้อ “สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand” ว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ประเทศไทยจะเติบโตแบบเดิม ๆ ไม่ได้ แต่ต้องหาการเติบโตแบบใหม่ ซึ่งจะมีอยู่ 3 ประเด็นที่สะท้อนว่าไทยจะเติบโตแบบไม่ได้ ได้แก่
1.อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเติบโตจีดีพีไม่ได้สะท้อนความมั่งคั่งครัวเรือนมากขึ้น แม้ว่าในการเติบโต Norminal GDP จะเติบโตจาก 100 เป็น 180 แต่ดูรายได้ครัวเรือนค่อนข้างห่างพอสมควร และมองไปข้างหน้า จีดีพีมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการเน้นเติบโตจีดีพี แต่รายได้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้น
2.ในมุมธุรกิจจะเห็นการกระจุกตัวสูง จากข้อมูลสัดส่วนรายได้ธุรกิจอยู่ในธุรกิจรายใหญ่ที่มี 5% แต่มีรายได้ถึง 80-90% จากเดิมอยู่ที่ 84-85% ซึ่งเห็นการกระจุกตัวมากขึ้น และหากดูธุรกิจตัวเล็ก หรือธุรกิจเกิดใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มีอัตราการตายมากขึ้น สะท้อน Dynamic ในการขับเคลื่อนกระจุกตัว
3.โลกเปลี่ยนแปลงความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไทยจะพึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แบบเดิมไม่ได้ ซึ่งในปี 2544-2548 มีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของไทยอยู่ที่ 0.57% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุน FDI ของไทยค่อนข้างทรงตัว ในทางกลับกันเวียดนามและอินโดนีเซียพุ่งสูงขึ้น สะท้อนว่าไทยจะนั่งเพื่อรอ FDI เข้ามาไม่ได้แล้ว เพราะไทยไม่ได้มีเสน่ห์เหมือนเดิม
“เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขจีดีพี หรือตัวเลข FDI เราต้องดูว่าจีดีพี หรือ FDI สร้างประโยชน์ความเป็นอยู่ของประเทศแค่ไหน เพราะตัวเลขที่ต้องล่า คือความมั่งคั่งรายได้ของครัวเรือน ที่สะท้อนความเป็นอยู่ของคน เช่น สาธารณสุข การศึกษา เป็นต้น เพราะตัวเลขที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของคน ดังนั้น เราต้องพึ่งพาความเข้มแข็งจากภายในประเทศ“
ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อไปว่า การเติบโตรูปแบบใหม่จะเป็นการเติบโตแบบยั่งยืนและมีฐานที่กว้าง ซึ่งเป็นการเติบโตแบบ More Local คือ 1.เน้นการเติบโตแบบท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประชากร 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ซึ่งต้องสร้างความมั่งคั่งนอกพื้นที่ และ 2.ธุรกิจประมาณ 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ซึ่งหากดูสัดส่วนประชากรเมืองหลวงและเมืองรองมีช่องว่าง (Gap) มหาศาล และ 3.จากตัวเลข World Bank สะท้อนว่าการเติบโตจีดีพีสูง แต่การเติบโตของประชากรเพียง 0.22% เท่านั้น
อย่างไรก็ดี การเติบโตแบบท้องถิ่นจะต้องโตแบบแข่งขันได้และเป็นการแข่งขันกับโลกได้ ซึ่งไม่เพียงแค่แข่งขันระหว่างจังหวัดและจังหวัดเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย และมีความท้าทายหลายด้าน เช่น 1.ส่วนของความหนาแน่นและการกระจายตัวของคนท้องถิ่น ซึ่งมีผลต่ออุปสงค์ที่ไม่โต 2.ธุรกิจท้องถิ่นมีขนาดเล็ก 3.ภูมิรัฐศาสตร์หลากหลายทำให้เศรษฐกิจและการเติบโตไม่กว้างและไม่ยั่งยืน
“ใน 3 ความท้าทายทำให้โอกาสสร้าง Economy of Scale ยากมากขึ้นในท้องถิ่น เพราะหากต้องการแข่งขันได้ต้นทุนจะต้องต่ำ ซึ่งต้นทุนต่ำจะต้องอาศัยมีขนาดและปริมาณมากพอ”
ดังนั้น หากท้องถิ่นจะก้าวความท้าทายได้จะต้องมีองค์ประกอบคือ 1.ความหนาแน่นของพื้นที่ กทม./ปริมณฑลที่มีผลเชิงลบ ทำให้จีดีพีชะลอลง 2.นโยบายเน้นกระจายความเจริญ แต่ต้องดูว่าการกระจายมีศักยภาพ เช่น พยายามพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แต่เป็นในโซนที่ไม่เหมาะสม ทำให้การดึงดูดการลงทุนไม่เหมาะสม จากตัวเลขการลงทุนเทียบใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุนใน Spacial Economic Zone อยู่ที่ 0.5% ไม่ถึง 1% แม้นโยบายมีเจตนาที่ดี แต่ไม่ได้ดูศักยภาพนโยบายแบบนี้ “ไม่ใช่”
ซึ่งคำตอบ “ใช่” คือการสร้างท้องถิ่นสากลให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จุดเด่นแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งทรัพยากรและประวัติศาสตร์ แต่จะต้องแข่งขันกับโลกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีมูลค่าสูงขึ้น
ทั้งนี้ วิธีการที่ทำให้ท้องถิ่นสากลได้จะต้องมี 5-6 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่ 1.เชื่อมกับตลาด แต่จากท้องถิ่นที่ไม่หนาแน่น กระจายไม่เยอะ ทำให้ต้นทุนจะต่ำได้น้อยมาก แต่กระแสออนไลน์จะทำให้การเชื่อมกับตลาดได้ง่ายขึ้น 2.สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการหาจุดเด่นและเอกลักษณ์
และ 3.ร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) จะช่วยได้ โดยตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสที่เป็น Win-Win 4.ทำให้เมืองรองโต ทำให้เกิดการเข้าถึงเมืองรอง สร้างการกระจุกตัวในเมืองใหม่ ๆ
5.ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเองได้ เพราะอะไรที่ใช้จากส่วนกลางแบบ One Size Fits All จะไม่เหมาะกับทุกพื้นที่ เช่น ต่างประเทศที่พัฒนาได้ดี อาทิ เกาะเจจู ของเกาหลีที่ให้พื้นที่ออกนโยบายเอง ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์ และ 6.สร้างระบบติดตาม ประเทศที่ทำได้ดีคือเวียดนาม ที่มีการคำนวณความสามารถในการแข่งขันในแต่ละจังหวัดและแต่ละพื้นที่ โดยมีการสำรวจความเห็นนักลงทุนถึงกฎระเบียบการลงทุนและอุปสรรคมีอะไรบ้าง เพื่อพยายามให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน
“สุดท้ายรูปแบบการเติบโตเปลี่ยนไป ออกไปในเชิงท้องถิ่นสากลมากขึ้น สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็น Inclusive ทำให้การเติบโตยืดหยุ่นและทนท้าน หรือ Resiliency จะเป็นการเติบโตแบบกว้างมากขึ้น โดยจะก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างท้องถิ่น จะช่วยอัพนโยบายต่าง ๆ ทั้งความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเกิดการเติบโตยั่งยืน โดย ธปท.พร้อมทำหน้าที่ในส่วนสนับสนุนผ่านสำนักงานภาค“