Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
กองทุนวายุภักษ์ 1 กองทุนที่รวมการลงทุนในหลักทรัพย์ที่รัฐถือครองมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบสนองกับนโยบายของรัฐบาล เพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับประชาชน และสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศไทย
โดยกองทุนดังกล่าว ก่อตั้งกองทุนดังกล่าวเมื่อปี 2546 และได้มีการซื้อหน่วยลงทุนประเภท ก. คืนทั้งหมด เมื่อปี 2556 เหลือเพียงกระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐที่ถืออยู่ ปัจจุบันมีมูลค่ากองทุนสูงถึงกว่า 3 แสนล้านบาท และกำลังจะกลับมาขายให้นักลงทุนทั่วไปที่สนใจอีกครั้ง หลังจากช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทย เจอแรงผันผวนหนักจากสถานการณ์โลก และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความไม่แน่นอน
กองทุนวายุภักษ์ ใครจะซื้อกองทุนนี้ได้ ต้องลงทุนเท่าไหร่ ซื้อได้วันไหน ลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง
Prachachat BITE SIZE สรุปรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับกองทุนนี้ ก่อนเปิดขายจริง
ใครซื้อกองทุนวายุภักษ์ได้ ?
กองทุนวายุภักษ์ 1 จะแบ่งผู้ถือหน่วยลงทุนเป็น 2 ประเภท คือ
- ประเภท ก. นักลงทุนทั่วไป เช่น นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนภาครัฐ สหกรณ์ มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ เป็นต้น
- ประเภท ข. กระทรวงการคลัง และอาจประกอบด้วยนักลงทุนภาครัฐ โดยไม่จำกัดสัดส่วนการลงทุนของกระทรวงการคลัง
โดยกองทุนวายุภักษ์ 1 ที่เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งนี้ เสนอขายกลุ่มนักลงทุนประเภท ก. วงเงินรวม 1 แสน-1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น
- นักลงทุนทั่วไป ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศ วงเงิน 3-5 หมื่นล้านบาท
- กลุ่มผู้ลงทุนสถาบันและนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม วงเงิน 1 แสน-1.2 แสนล้านบาท
ระยะเวลาลงทุน เบื้องต้น 10 ปี และระหว่างทาง สามารถขายหน่วยลงทุนได้ผ่านตลาดรอง เมื่อถือครบ 10 ปีแล้ว ขึ้นกับกองทุนฯ ว่าจะขยายเวลาระดมทุนต่อหรือไม่
- หากขยายเวลาระดมทุน ขึ้นกับนักลงทุนประเภท ก. ว่าจะยืดเวลาการถือหน่วยออกไป หรือขายคืนหน่วยลงทุน (Redeem) ตามแนวทางที่กำหนด
- หากไม่ขยายเวลาระดมทุน บริษัทจัดการกองทุน จะรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ประเภท ก. ทั้งหมด เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2556
กองทุนวายุภักษ์ ลงทุนอะไรบ้าง ?
สำหรับกองทุนวายุภักษ์ 1 จะมีบริษัทจัดการกองทุน 2 บริษัท คือ บลจ.กรุงไทย (KTAM) และบลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) โดยจะมีนโยบายการลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก แต่ลักษณะการบริหารมีทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และแบบเชิงรับ (Passive Investment) เพราะโครงสร้างกองทุนยืดหยุ่น สามารถลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ก็ได้ตามจังหวะของตลาด
ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี อาทิ บริษัทที่อยู่ใน SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป หรือบริษัทนอก SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ระดับ AA ขึ้นไป
นอกจากนี้ อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอัตราผลตอบแทนดีหรือมีแนวโน้มเติบโตสูง มีสภาพคล่องและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ส่วนสินทรัพย์ที่กองทุนดังกล่าวลงทุน คือ หุ้นสามัญ สัดส่วนมากที่สุดมากถึง 88.36% รองลงมาคือพันธบัตร เงินฝาก หุ้นกู้ ส่วนหุ้น 5 อันดับแรกที่ลงทุน ล้วนเป็นยักษ์ใหญ่ ทั้ง ปตท. เอสซีบีเอกซ์ ทีทีบี แบงก์กรุงไทย และบางจาก
สำหรับผลตอบแทนกองทุน กำหนดไว้ที่ 3-9% ต่อปี การันตีขั้นต่ำ 3% และการันตีขั้นสูงที่ 9% ตลอด 10 ปี โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คำนวณจากราคาพาร์ที่ 10 บาทต่อหน่วย หรือคิดง่าย ๆ จะได้รับเงินปันผลต่อปีประมาณ 0.30-0.90 บาท/หน่วย/ปี แต่ต้องเสียภาษีเสียภาษีอัตรา 10%
นอกจากนี้ ยังมีกลไกในการคุ้มครองผลตอบแทนและเงินลงทุน คือ ผลตอบแทนของกองทุน จะจ่ายให้ผู้ถือหน่วย ก. ก่อนผู้ถือหน่วย ข. ขณะที่ผลการขาดทุน ผู้ถือหน่วย ข. จะรับความเสี่ยงก่อนผู้ถือหน่วย ก.
กองทุนวายุภักษ์ เปิดขายเมื่อไร ?
สำหรับกองทุนวายุภักษ์ 1 จะเปิดขายหน่วยลงทุน 16-20 กันยายน 2567 โดยรายละเอียดเป็นดังนี้
- นักลงทุนรายย่อย ซื้อได้ตั้งแต่ 16-20 ก.ย. 2567
- นักลงทุนสถาบัน ซื้อได้วันที่ 18-20 ก.ย. 2567
- เปิดจองซื้อขั้นต่ำ 1,000 หน่วย หรือ 10,000 บาท และเพิ่มขึ้นครั้งละ 100 หน่วย หรือ 1,000 บาท
- จัดสรรด้วยวิธี Small Lot First ซึ่งผู้จองซื้อทุกรายจะมีโอกาสในการได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนเท่ากัน
สามารถซื้อได้ผ่านช่องทางของของบริษัทจัดการ ทั้ง KTAM และ MFC และช่องทางของ 6 ธนาคาร ทั้งธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารออมสิน
หลังจากซื้อหน่วยลงทุนเสร็จแล้ว จะประกาศผลการได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนในวันที่ 25 กันยายน 2567 ผ่านทาง Settrade.com และเข้าลงทุน เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นภายในตุลาคมนี้เป็นต้นไป
ส่วนใครที่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนไม่ครบ จะได้รับเงินคืนภายใน 7 วันทำการหลังสิ้นสุดการจองซื้อของผู้ลงทุนทุกประเภท หรือภายในวันที่ 8 ตุลาคม 2567
สำหรับหน่วยลงทุน ประเภท ก. บริษัทจัดการจะนำหน่วยลงทุนทั้งหมดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้ทุกวันทำการของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ หน่วยลงทุนในครั้งนี้จะอยู่ในรูปแบบไร้ใบหุ้น (Scripless) โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกได้ 2 ทางเลือกคือ
- รับหน่วยลงทุนเข้าบัญชีหลักทรัพย์ของตนเอง
- ฝากหน่วยลงทุนไว้กับนายทะเบียน (บัญชี 600)
กรณีฝากหน่วยลงทุนไว้กับนายทะเบียน จะไม่สามารถเข้าซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทันวันแรกที่หน่วยลงทุนประเภท ก. เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย และหากผู้ลงทุนที่ฝากหน่วยลงทุนเข้าบัญชี 600 ต้องการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนในตลาดหุ้นไทย ผู้ลงทุนจำเป็นต้องเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ก่อน และโอนหน่วยลงทุนจากบัญชี 600 ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดเข้าบัญชีหลักทรัพย์ของตนเอง เพื่อซื้อหรือขายในตลาดหุ้นต่อไป
นับเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะได้ทั้งการออม การลงทุน และได้ช่วยดันตลาดหุ้นไทยให้กลับมาสดใสอีกครั้ง ใครที่สนใจ อย่าลืมอ่านหนังสือชี้ชวน ศึกษารูปแบบการลงทุนก่อนตัดสินใจ
อ่านหนังสือชี้ชวนกองทุนฯ ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. https://market.sec.or.th/public/mrap/MRAPView.aspx?FTYPE=M&PID=0681&PYR=2546
ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.72 ได้ที่ https://youtu.be/lgEdY_W_ATQ
เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ