จัดทัพใหม่ ข้าราชการคลัง หมุนเวียน-วางตัว รับโจทย์ท้าทาย

move

ปีงบประมาณ 2567 จะสิ้นสุดในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว (สิ้นเดือน ก.ย.) แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะใหม่ จากชุดที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี มาเป็นชุดที่มี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้กระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการต้องชะลอตัวไปในช่วงก่อนหน้านี้

โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่เป็นกระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจ ที่แม้ก่อนหน้านี้จะมีการพูดคุยวางตัว หมุนเวียน “อธิบดี” กรมต่าง ๆ กันไปบ้างแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ก็ต้องมาว่ากันใหม่

เคาะรายชื่อชง ครม.

โดยยังต้องลุ้นกันว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเสนอรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายเมื่อไหร่ ซึ่งอย่างเร็วก็วันที่ 17 ก.ย.นี้ แต่หากไม่ทัน ก็น่าจะเป็นวันที่ 24 ก.ย.

ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดมีโอกาสที่จะเสนอในวันที่ 24 ก.ย.ค่อนข้างมาก เนื่องจากหลาย ๆ ตำแหน่ง “ยังไม่ลงตัว” และยังต้อง “พูดคุยตกลง” กันอยู่ โดยตามหลักการแล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวง เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงการคลัง แต่ก็ต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบด้วย และเข้าใจว่าปัจจุบันจะต้องส่งรายชื่อให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตรวจสอบคุณสมบัติก่อนด้วย

“อธิบดี-รองปลัด” เกษียณ 4 คน

รอบนี้ก็ต้องบอกว่า มีข้าราชการระดับ 10 จะเกษียณอายุด้วยกัน 4 ราย โดยเป็นอธิบดี 1 ราย คือ นายจำเริญ โพธิรอด อธิบดีกรมธนารักษ์ ขณะที่รองปลัดเกษียณ 2 ราย คือ นางวรนุช ภู่อิ่ม และ นายชาญวิทย์ นาคบุรี นอกจากนี้ ยังมีผู้ตรวจราชการเกษียณอีก 1 ราย คือ นางสาวขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ ทำให้รอบนี้น่าจะมีการขยับหลายตำแหน่ง เพื่อหมุนเวียนการทำงาน จัดทัพเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายให้ “ราบรื่น” ไม่สะดุด และแน่นอนว่าหลายคนก็ลุ้น “ปูทาง” ไปสู่ตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงการคลัง” ในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย

จัดทัพรับภารกิจแก้ปมการคลัง

โดยทุกกรมมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด โดยเฉพาะ “กรมรายได้” เนื่องจากปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลตั้งเป้าหมายจัดเก็บรายได้ไว้สูงถึง 2.887 ล้านล้านบาท และตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569 เป็นต้นไป รายได้สุทธิของรัฐบาลจะต้องทะลุ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้า

ADVERTISMENT

ดังนั้น ระยะยาวจึงจำเป็นต้อง “ขยายฐาน-เพิ่มรายได้” เพื่อ “ลดขาดดุล” ลง

ทำให้ “กรมสรรพากร” ที่ปัจจุบันมี นางสาวกุลยา ตันติเตมิท นั่งเป็นอธิบดีอยู่ หรือ “กรมสรรพสามิต” ที่ปัจจุบันมีนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ เป็นอธิบดี และ “กรมศุลกากร” ที่ตอนนี้มีนายธีรัชย์ อัตนวานิช นั่งเก้าอี้อธิบดีอยู่ ทุกตำแหน่งนี้มีโอกาสปรับเปลี่ยนได้ทั้งหมด โดยเฉพาะล่าสุด มีกระแสร้อนแรงว่า นายปิ่นสาย สุรัสวดี จะได้ขยับจากรองปลัดมานั่งเก้าอี้อธิบดีกรมสรรพากร เพราะเป็นลูกหม้อกรมสรรพากรแท้ ๆ และยังได้แรงหนุนจากผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

ADVERTISMENT

ขณะที่นางสาวกุลยา หากไม่ได้อยู่ที่เดิม ก็มีโอกาสขยับไปนั่งอธิบดีกรมสรรพสามิต หรือกรมธนารักษ์ เช่นเดียวกับ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ “รอ” มาตั้งแต่การแต่งตั้งโยกย้ายรอบที่แล้ว ซึ่งไม่ได้ขยับ จึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายในรอบนี้ โดยหากไม่ใช่กรมธนารักษ์ ก็อาจจะเป็นกรมสรรพสามิต ด้านนายเอกนิติ มีกระแสหนาหูว่า อาจจะได้กลับถิ่นเก่า มานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

ส่วนเก้าอี้อธิบดีกรมศุลกากรของนายธีรัชย์นั้น มีความเป็นไปได้ ที่อาจจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะนายธีรัชย์ เหลืออายุราชการอีกเพียง 1 ปี จึงอาจได้นั่งตำแหน่งนี้ต่อไป เพื่อเกษียณอายุราชการในตำแหน่งนี้

อย่างไรก็ดี ต้องจับตา นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่โผเดิมก่อนจะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี มีกระแสว่า ไม่ได้อยู่ที่เดิม จึงต้องดูว่าครั้งนี้จะขยับหรือไม่ และหากขยับ จะขยับไปตรงไหน

ทั้งหมดนี้ ยังต้องติดตาม เพราะยังไม่ลงตัว ทุกตำแหน่งมีโอกาสพลิกได้ตลอด แต่ทุกอย่างจะชัดเจนใน 1-2 สัปดาห์นี้แน่นอน