วิธีสู้หนี้นอกระบบ “เงินเทอร์โบ” แนะปลดเพดานดอกเบี้ย

suthuch
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

รายได้และการเติบโตที่หวือหวาในอดีตของ “ธุรกิจสินเชื่อ” กำลังถูกชะลอและลดทอนด้วยภาวะเศรษฐกิจ

“สุธัช เรืองสุทธิภาพ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ ถอดสูทนั่งพูดคุยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในวันที่ “เร่งเทอร์โบ” ได้ลดลง

“เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้คนใช้จ่ายกันยากขึ้น ทุกคนก็พากันเข้มในการปล่อยสินเชื่อ” เขาอัพเดตภาวะปัจจุบัน

“ตลาดแย่ เศรษฐกิจไม่ดี แต่ไม่ถึงขนาดระเบิดพังพินาศ ข้อเท็จจริงคือกำไรลด และอยู่ในช่วงระมัดระวังตัวกันหมด”

พฤติกรรมและเป้าหมายในการขอสินเชื่อผ่านการจำนำทะเบียนรถยนต์เปลี่ยนแปลงไป จากอดีตผู้คนต้องการเงินเพื่อนำไปขยายกิจการ แต่ปัจจุบันเป็นลักษณะหวังผลในเชิงการหมุนเวียนระยะสั้นหรือฉุกเฉิน

“จำนวนเงินมันสะท้อนว่าคุณเอาไปทำอะไร” สุธัชสังเกตจากตัวเลขมูลค่าสินเชื่อที่ถูกร้องขอ

Advertisment

ปัจจุบันมี “ผู้ต้องการสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น” แต่การเติบโตของพอร์ตเจ้าหนี้นั้นลดน้อยลง เนื่องจากระมัดระวังในการปล่อยกู้ ตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อและการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้นในทุกวงการ

“หนี้เสียที่ลดลงเกิดขึ้นเพราะเราปล่อยน้อยลง คนในอุตสาหกรรมนี้รับรู้ว่าคนต้องการเงิน และก็อยากให้เงิน เพียงแต่ทุกคนต้องระวังมากขึ้น พยายามให้เงินกับคนที่คิดว่าเขาผ่อนไหว”

Advertisment

เมื่อถามถึงการจำนำทะเบียนรถยนต์ประเภท EV เขาบอกว่า “เริ่มมีมาจำนำบ้าง” แต่ยังไม่มี “ค่ากลาง” ที่ชัดเจน สิ่งที่กลุ่ม “ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ” อยากเข้าใจคือ

1.ภายหลังฝุ่นตลบแล้ว ราคา EV จะเป็นอย่างไร
2.รถ EV มีค่าเสื่อมราคาและการดูแลบำรุงรักษาเท่าไหร่
3.ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ตลาด EV จะมีผู้เล่นเหลืออีกกี่ราย

“เราไม่ได้กลัวเทคโนโลยี สิ่งที่กลัวคือไม่รู้จริง ๆ ว่าราคาเท่าไหร่ คุณจะลดราคาอีกกี่แสนหลังจากเปิดตัว และหลังจากใช้ไปแล้วจะเหลือมูลค่าเท่าไหร่”

เมื่อผู้คนกู้ในระบบไม่ได้ ก็หันไปพึ่งพา “นอกระบบ” ที่เข้าถึงง่าย สะดวก และรวดเร็ว

นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถเสนอการแก้ “หนี้นอกระบบ” ที่ซับซ้อนและทับถมสังคมไทยมาอย่างยาวนานด้วยวิธีการ “เปิดเพดานดอกเบี้ย”

“ผมถามหน่อยว่า แม่ค้าในตลาดเมืองไทยคนไหนไม่เป็นหนี้นอกระบบบ้าง ต้องเข้าใจก่อนว่าทุกที่ในไทยมีหนี้นอกระบบหมด ยอมรับความจริงก่อน”

ปัจจุบันตามกฎหมายเพดานการกู้ยืมสินเชื่อบุคคลถูกกำหนดไว้ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสถาบันการเงิน

“ถามหน่อยว่าระหว่างธนาคารกับเจ๊แดง (นามสมมุติ) ผมอยากเป็นหนี้ใครมากกว่ากัน”

“คำถามคือ ทำไมเราถึงมีหนี้นอกระบบอยู่ทั่วทุกหย่อมหญ้า ทั้ง ๆ ที่คนกู้ก็ไม่อยากเป็นหนี้นอกระบบ คำตอบเดียวคือ เขากู้ในระบบไม่ได้ไงล่ะ”

ปัจจุบัน “สภาพคล่องธนาคาร” อยู่ในระดับสูง มียอดคงค้างเงินฝากหลายล้านล้านบาท สุธัชเห็นว่าน่าจะใช้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้เกิดโอกาสมากกว่าที่เป็น

เขาบอกว่าสาเหตุที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อเกิดจาก 2 เหตุผล

1.ความสามารถในการทำธุรกิจให้อยู่รอด “ทำแล้วโอกาสเจ๊งเยอะเขาก็ไม่ปล่อย” 2.เพดานดอกเบี้ย ต้องขยายในระบบให้ใหญ่และกว้าง ทำให้นอกระบบวิ่งเข้ามา นี่คือวิธีที่ง่ายที่สุด เมื่อสภาพความเป็นจริง หรือค่าพื้นฐานคือ “ผู้คนต้องการเงิน”

“เรายังไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายดอกเบี้ยมันต้องกี่เปอร์เซ็นต์ สมมุติปล่อยนาย A 40 เปอร์เซ็นต์ เจ้าหนี้กำไร 20 เปอร์เซ็นต์ ปีหน้าสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ คุณจะเจอเจ้าสัวในเมืองไทยอีก 20 คนมาตั้งบริษัทปล่อยสินเชื่อ แล้วสู้กันจนตายไปข้าง สุดท้ายหลังฝุ่นตลบคุณจะเห็นราคาตลาดที่แท้จริง”

คนปล่อยกู้คือคนคุมเกม ปัจจุบันดอกเบี้ยนอกระบบมีหลากหลายระดับ พบเห็นได้ตั้งแต่หลักสิบลากเส้นยาวไปถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อปี

“ตอนนี้บางคนจ่ายดอกเบี้ย 100-200 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ดอกลอยเดือนละ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ในระบบไม่มีทางเกิดขึ้นได้” CEO เงินเทอร์โบบอก หากอยู่ในระบบ ‘คุณไม่จ่าย’ เจ้าหนี้ทำได้มากที่สุดแค่ฟ้องร้องเพื่อยึดทรัพย์ แต่นอกระบบนั้นคุณเป็นลูกไก่ในกำมือ คาดเดาไม่ได้ว่าจะเผชิญหน้ากับปัญหา หรืออันตรายใดบ้าง

สุธัชที่พาเงินเทอร์โบโตไกล 1,050 สาขา ใน 7 ปี มีทีมงาน 2,700 คน ทิ้งท้ายว่า

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเข้าถึงเงินของคน มากกว่าการเข้าถึงที่ถูกที่สุด”