ดร.ภากร เกษียณทำงานวันสุดท้าย 18 ก.ย.นี้ พร้อมฝากการบ้าน “อัสสเดช คงสิริ” ผู้จัดการ ตลท. คนใหม่ รับมือความท้าทายเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว แนะติดตามข้อมูลและออกกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม หวังรักษามาตรฐานให้เทียบเคียงกับตลาดต่างประเทศ พร้อมมองบรรยากาศลงทุนหุ้นไทยดี หลังปัจจัยรอบด้านหนุน
วันที่ 16 กันยายน 2567 ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงาน Meet the Press ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการอำลาตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า หลังจากที่หมดวาระการดำรงตำแหน่งแล้วนั้น จึงขอฝากถึงผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯคนใหม่ คุณอัสสเดช คงสิริ ที่จะเริ่มทำงานในวันที่ 19 ก.ย. 2567
โดยมองว่าผู้จัดการคนใหม่จะมีความท้าทาย เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดทุนโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมากและผลกระทบมีอย่างรวดเร็ว จึงทำให้การจัดการในอนาคตต้องวิเคราะห์และติดตามข้อมูลมาออกเป็นกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม
ยิ่งไปกว่านั้นตลาดทุนที่เชื่อมต่อกันทั่วโลกจะทำให้การแข่งขันสูงขึ้น จึงต้องหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้ตลาดหุ้นไทยยังสามารถเทียบเคียงกับตลาดต่างประเทศได้ และเป็นตลาดที่มีคนอย่างเข้ามาระดมทุนหรือมีนักลงทุนที่เหมาะสมครบถ้วน รวมถึงมีความบาลานซ์ที่ดี โดยเชื่อว่าอันนี้ถือเป็นความท้าทายและสิ่งที่ผู้จัดการคนใหม่คงจะต้องนำพาตลาดทุนไทยให้เจริญอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการพัฒนาหลายด้าน และมี 3 ด้านหลักที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.การให้บริการตลาดทุน การระดมทุนในการลงทุน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถแข่งขันได้กับตลาดโลก 2.การให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนมาก ซึ่งทำอย่างไรที่จะได้ไม่มีการลงทุนซ้ำซ้อนหรือทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องขยายธุรกิจได้ด้วยต้นทุนต่ำ และ 3.การส่งเสริมการเงินให้มีความยั่งยืน เช่น การให้ความรู้ด้านการเงิน การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
“3 เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญ และในช่วงหลังจากการที่โลกมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่อง เทคโนโลยี พฤติกรรมการลงทุนที่เปลี่ยนแปลง ตลาดทุนมีการปรับวิธีการทำงาน กฏเกณฑ์ต่าง ๆ เชื่อว่าสิ่งที่ทำมาจะทำให้ตลาดทุนไทย สามารถพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน”
ดร.ภากรกล่าวต่อว่าด้านภาพรวมภาวะตลาดหุ้นไทยนั้น มองว่าบรรยากาศการลงทุนที่กลับมาจากหลายส่วนและเป็นทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยต่างประเทศมาจากนโยบายดอกเบี้ยที่เริ่มจะลดลง ทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจที่เริ่มมีการฟื้นตัวในหลายประเทศ ถึงแม้จะมีความขัดแย้งทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ผลกระทบก็เริ่มลดลง
ส่วนปัจจัยภายในประเทศจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มเยอะขึ้น และการส่งออกในเดือน ก.ค. 67 โตเกิน 15% รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น 6% ใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และดัชนีของตลาดหุ้นที่สะท้อนถึงความสามารถการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ช่วง 2 ไตรมาสแรกปี’67 โตขึ้นถึง 10% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด
จึงเป็นเหตุให้บรรยากาศกลับมาดีขึ้น เพราะปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตอนนี้สิ่งที่อยากจะฝากนักลงทุนคือ การติดตามดูข้อมูลต่อไป เพราะยังมีปัจจัยทั้งในและต่างประเทศที่กระทบเราอยู่
พร้อมเชื่อว่าจากตอนนี้ที่รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นกองทุนวายุภักษ์หรือกองทุนรวม Thai ESG น่าจะทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงหากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อไปคาดว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของตลาดหุ้นไทย
ส่วนด้านกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทย คาดว่ามาจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายนอกมาจากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ความไม่แน่นอนที่ลดลง ดอกเบี้ยที่ลดลงและสภาพคล่องที่สูงขึ้น ส่วนปัจจัยในประเทศมาจากเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัว บจ.มีกำไรสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้เม็ดเงินต่างชาติกลับมาอย่างต่อเนื่อง