เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตาตัวเลขศก.เดือนเมษายน

แฟ้มภาพ

“เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้ง โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเพียงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ หลังจากสหรัฐฯ และจีนบรรลุความเห็นชอบร่วมกันที่จะไม่ทำสงครามการค้า อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังจากที่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลการเจรจาทางการค้าของสหรัฐฯ-จีน กดดันให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง ประกอบกับเงินบาท ก็มีปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิพันธบัตรไทยอีกครั้ง

ในวันศุกร์ (25 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.88 เทียบกับ 32.19 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 พ.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 พ.ค.-1 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.70-32.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศ น่าจะอยู่ที่ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเม.ย.ของไทย ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ค. รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคา Core PCE Price Index เดือนเม.ย. ดัชนีราคาบ้านเดือนมี.ค. และข้อมูลจีดีพีประจำไตรมาส 1/2561 (Prelim.) นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,741.21 จุด ลดลง 0.74% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับลดลง 6.18% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 57,613.16 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 468.53 จุด ลดลง 1.32% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ด้วยแรงหนุนจากตัวเลขจีดีพีไทยประจำไตรมาส 1/2561 ที่ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่ดัชนีฯ จะร่วงลงในช่วงต่อมาท่ามกลางแรงกดดันในหุ้นกลุ่มพลังงาน ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ และการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ฟื้นตัวได้เล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงซื้อคืนในหุ้นกลุ่มพลังงาน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 พ.ค.-1 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,725 และ 1,710 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,750 และ 1,765 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ได้แก่ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนเม.ย. ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนพ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน ตลอดจนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น