SCG เปลี่ยนเพื่ออนาคต ปรับแผนธุรกิจ คุมเข้มเรื่องการเงิน

เอสซีจี

หลายปีนับจากนี้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของ SCG เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนกฎระเบียบและภาษีคาร์บอน รวมถึงวัฏจักรขาลงธุรกิจปิโตรเคมีที่ยาวนานกว่าคาดมาก ไฮไลต์หลัก คือ การปรับโรงงาน LSP ในเวียดนาม รองรับการใช้ Ethane เป็น Feed Stock หลายแผนงานที่ SCC กำลังดำเนินการอยู่จะส่งผลบวกในระยะยาว

วันที่ 17 กันยายน 2567 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด ได้สรุปแผนธุรกิจของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ในการประชุมนักวิเคราะห์วานนี้ เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่ รวมถึงแผนการรับมือปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งให้น้ำหนักไปใน 4 เรื่องคือ

  1. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความได้เปรียบเรื่องต้นทุนของจีน
  2. การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและการเก็บภาษีคาร์บอน
  3. การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำในบางประเทศอย่าง ไทย กัมพูชา และลาว ในขณะที่บางประเทศยังมีเศรษฐกิจเติบโตได้ดี อย่างเช่น อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง
  4. วัฏจักรขาลงของธุรกิจปิโตรเคมีที่ลากยาวกว่าที่เคยคาดไว้มาก

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบผลการดำเนินธุรกิจของ SCC ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ทำให้ SCC ต้องหาทางรับมือและจำเป็นต้องปรับตัวหลายด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในส่วนของ Core Business และการบริหารจัดการด้านการเงิน

ธุรกิจ Construction

1.เร่งพัฒนาสินค้า Low Carbon โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาปูนซีเมนต์ Low Carbon Gen2 หลังประสบความสำเร็จในการพัฒนาปูนซีเมนต์ Low Carbon Gen1 ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลงได้ 10% เทียบกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ปกติ และมีสัดส่วนการขายปูนซีเมนต์ Low Carbon Gen1 สูงถึง 70% ของยอดขายในประเทศไทยในปี 2566

ซึ่งปูนซีเมนต์ Low Carbon นอกจากจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตลง 10-15% เพราะมีการใช้เชื้อเพลิงทดแทนและการปรับสูตร ผลิตทำให้มีการใช้ถ่านหินน้อยลง ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายส่วนแบ่งการตลาดในประเทศสำหรับโครงการภาครัฐ และเอกชนที่ให้ความสำคัญในเรื่อง Green Product รวมไปถึงการส่งออกปูนซีเมนต์ไปต่างประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่อง Green Product อย่าง สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย

โดย SCC จะขยายผลการเป็นผู้นำในสินค้า Green Product ไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ SCC มีฐานการผลิตอยู่ ได้แก่ เวียดนามและอินโดนีเซียเพื่อใช้เป็นฐานการส่งออกต่อไป

ADVERTISMENT

2.ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายสินค้าจากสินค้าวัสดุก่อสร้างทั่วไปที่ต้องแข่งขันด้านราคาจากสินค้านำเข้าจากจีน มาเป็นสินค้าที่เน้นนวัตกรรมและการขายสินค้าพร้อมบริการในรูปแบบของ System เช่น ระบบหลังคาระบบผนัง หรือการขายเป็น Solution ให้กับลูกค้า เช่น ระบบประหยัดพลังงาน ระบบอากาศบริสุทธิ์ ระบบความปลอดภัยในบ้าน และระบบการควบคุมต่าง ๆ ในบ้าน เป็นต้น

โดยไม่จำกัดเฉพาะสินค้าที่ผลิตในเครือ SCC เท่านั้น แต่จะรวมถึงสินค้านำเข้า และสินค้าจากผู้ผลิตรายอื่น ผนวกกับความชำนาญที่ SCC เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้อยู่อาศัย

ADVERTISMENT

3.ขยายตลาดในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยให้ความสนใจไปที่กลุ่มประเทศ SAMEA (เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา)

ธุรกิจ CleanEnergy

เพิ่มการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด หรือ Clean Energy โดยตั้งเป้าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 3,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2030 และรุกธุรกิจ Heat Battery ภายใต้ความร่วมมือกับ Rondo โดยนำความร้อนจากพลังงานแสงแดดและ Biomass มาเก็บสะสมใน Heat Battery เพื่อนำความร้อนไปใช้ผลิตไอน้ำและ Hot Air ลูกค้าเป้าหมายคือโรงงานที่ใช้น้ำมันดีเซล LPG หรือ Heavy Fuel Oil เป็นเชื้อเพลิง

ธุรกิจปิโตรเคมี

การฟื้นตัวของ Spread ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ ที่เคยประเมินไว้ว่าจะทำจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ก่อนที่จะทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดไว้ สาเหตุเกิดจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า บวกกับกำลังการผลิตใหม่จากจีนที่จะเข้ามามากขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานของจีนมาสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น

ทำให้กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในประเทศจีนหันมาลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อนำผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นมาใช้เป็น Feedstock ในธุรกิจปิโตรเคมีแทน ส่งผลให้วัฏจักรขาลงของธุรกิจปิโตรเคมีรอบนี้กินเวลายาวนานกว่ารอบก่อนมาก มีเพียงโรงงานโอเลฟินส์ที่ใช้ Gas เป็น Feedstock ในฝั่งอเมริกาที่มีต้นทุน Gas ต่ำ ที่ยังมีความสามารถในการทำกำไร

สำหรับ SCC ที่กำลังจะ Start Up โรงงานโอเลฟินส์ที่เวียดนามคือ Long son Petrochemical Complex (LSP) ในเดือน ต.ค. 2567 ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เพราะจะเปิดดำเนินงานในภาวะที่ตลาดอยู่ในช่วงขาลง และ LSP ใช้ Naphtha เป็นวัตถุดิบหลัก อีกทั้งธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศเวียดนามไม่มีความซับซ้อนเหมือนธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทยที่มี Value Chain ยาวและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้า High Value Added ได้มาก

แม้ว่าโรงงาน LSP จะถูกออกแบบให้ใช้ก๊าซ Propane เป็น Feed stock ได้ แต่ราคา Propane ในปัจจุบัน มีส่วนต่างกับราคา Naphtha ไม่มาก เนื่องจากประเทศจีนมีการสร้างโรงงานปิโตรเคมีประเภท Propane Dehydrogenation Process (PDH) ซึ่งใช้ Propane เป็นวัตถุดิบจำนวนมาก

ทำให้ SCC ตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนโรงงาน LSP ให้สามารถใช้ Ethane เป็นวัตถุดิบ ซึ่งมีความได้เปรียบด้านต้นทุนเมื่อเทียบกับ Naphtha ประมาณ 200-400 เหรียญ/ตัน โดยจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับงบฯลงทุนและแผนงานที่ชัดเจนในการจัดซื้อ Ethane ภายในสิ้นปี 2567

การปรับปรุงโรงงาน LSP ให้สามารถใช้ Ethane เป็นวัตถุดิบ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะจะทำให้ LSP สามารถเลือกใช้วัตถุดิบได้ถึง 3 ชนิดคือ Ethane, Propane และ Naphtha ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นในการเลือก Feedstock ที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในแต่ละช่วงเวลา

โดยที่ราคา Ethane จะเคลื่อนไหวไปตามราคาก๊าซธรรมชาติในสหรัฐ คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี ซึ่งรวมไปถึงการก่อสร้างถังเก็บ Ethane, เรือขนส่ง Ethane และการปรับปรุงเครื่องจักรบางส่วนของโรงงาน LSP เพื่อรองรับการใช้ Ethane เป็น Feedstock โดยจะเริ่มมีการรับ Ethane Shipment แรกต้นปี 2571

คุมเข้มเรื่องการเงิน ตั้งงบฯลงทุน 5 ปี 2 แสนล้าน

ด้านการบริหารการเงินของ SCC จะให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับเรื่องการลดภาระหนี้สินสุทธิ โดยการลงทุนในอนาคตจะมุ่งเน้นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Green Product รวมถึงการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเป็นหลัก โดยประเมินงบลงทุน (CAPEX) ช่วง 5 ปีข้างหน้า รวมอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ SCC ยังมีแผนที่จะลดการใช้เงินทุนหมุนเวียนลงอีก 10-15% และจะหยุดดำเนินงานในบางธุรกิจที่ไม่สร้างกำไร

คงน้ำหนักลงทุน Neutral ราคาเหมาะสม 320 บาท

การปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีทั้งเรื่องการปรับผลิตภัณฑ์ ปรับกระบวนการผลิต การแสวงหาตลาดใหม่ และการหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไรด้วยการใช้พลังงานทางเลือก จะส่งผลดีในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ตลาดและข้อมูลที่ยังมีอย่างจำกัดเกี่ยวกับการเปลี่ยน Feedstock ของโรงงาน LSP จาก Propane/Naphtha มาใช้ Ethane เป็นวัตถุดิบหลัก

ทำให้ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรของ SCC ไว้เท่าเดิม และให้น้ำหนักการลงทุน Neutral ประเมินราคาเหมาะสมวิธี DCF ได้ที่ 320 บาท โดย SCC เป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET ที่มีความโดดเด่นอย่างมากในด้าน ESG จึงน่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการออมระยะยาวผ่านกองทุน Thailand ESG Fund ซึ่ง SCC เป็นหนึ่งใน 34 บริษัท ที่ได้รับการประเมิน SET ESG Ratings AAA