ตลาดเพิ่มน้ำหนัก FED ลดดอกเบี้ยแรง 0.5% ลุ้น กนง.ลดดอกเบี้ย 16 ต.ค.

เจอโรม พาวเวลล์ เฟด
Photo by SAUL LOEB / AFP/ file Photo

ตลาดเพิ่มน้ำหนัก FED ลดดอกเบี้ยแรง 0.5% วันพรุ่งนี้ บล.เอเซีย พลัส มองถ้าลดเร็ว-แรงอาจตามมาด้วยเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย พร้อมลุ้น กนง.ลดดอกเบี้ย 16 ต.ค.

วันที่ 17 กันยายน 2567 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่ลดความร้อนแรงลงในช่วงที่ผ่านมา หนุนให้การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) วันพรุ่งนี้ (18 ก.ย. 2567) หรือวันที่ 19 ก.ย. 2567 เวลา 01.00 น. ตามเวลาประทศไทย เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรก ขณะที่ตลาดเทน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 67% (วานนี้ 52%) ให้กับการลดดอกเบี้ย 0.5% สู่ระดับ 5.0% ในวันพรุ่งนี้ ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐระยะถัดไปอาจเป็นภาพของการชะลอตัวลงเรื่อย ๆ

แต่อีกแง่มุมหนึ่งหาก FED เร่งปรับลดดอกเบี้ยลงเร็วและแรง อาจตามมาด้วยความเสี่ยงในการเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในสหรัฐ โดยจากสถิติในอดีต รอบการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในอัตรา 0.5% และหลังจากนั้น 6 เดือน ดอกเบี้ยร่วงลงแรงอย่างรวดเร็ว มักจะตามมาด้วยเศรษฐกิจชะลอตัวแบบ Hard Landing

อย่างไรก็ตาม Bloomberg คาดการณ์โอกาสเกิด Recession อีก 1 ปีข้างหน้าของสหรัฐ ล่าสุดทรงตัวอยู่ที่ 30% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก แต่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก Bloomberg ได้ปรับเพิ่มโอกาสเกิด Recession ในกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว (DM) หลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, จีน ฯลฯ สวนทางกับกับกลุ่ม TIP

การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) พรุ่งนี้ (18 ก.ย.) เห็นสัญญาณของการปรับลดดอกเบี้ย 0.50% แรงขึ้น โดย FED WATCH TOOL แสดงความน่าจะเป็นเพิ่มขึ้นเป็น 67% ส่วนอีก 33% คาดว่าจะปรับลดลง 0.25% หากปรับลด 0.5% มองว่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มากขึ้น

“สรุปการเร่งปรับลดดอกเบี้ยลงเร็วและแรง อาจตามมาด้วยความเสี่ยงในการเกิดเศรษฐกิจ Recession ในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม โอกาสเกิด Recession อีก 1 ปีข้างหน้าของสหรัฐ ล่าสุดทรงตัวอยู่ที่ 30% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก แต่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”

ADVERTISMENT

ลุ้น กนง.ลดดอกเบี้ย 16 ต.ค.

รัฐบาลชุดใหม่เตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังมากขึ้น อาทิ การประชุม ครม.นัดแรกวันนี้ พิจารณาการจ่ายเงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตสำหรับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน

ส่วนกระแสการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน คาดจะประกาศใช้ 1 ต.ค. 2567 มีโอกาสเกิดขึ้นสูง หลัง รมว.แรงงานเตรียมนัดประชุมไตรภาคีอีกครั้งวันที่ 20 ก.ย. 2567 (ซึ่งหากตัวแทนนายจ้างไม่มาร่วมประชุมถือว่าสละสิทธิ์) ประเด็นดังกล่าวคาดหนุนให้ GDP GROWTH ไทยปีนี้มีโอกาสแตะ 3% ดังที่ปลัดกระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายไว้

ADVERTISMENT

ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่เตรียมหารือ ธปท.เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทางการเงินในอนาคต ซึ่งคาดหมายถึงการดำเนินนโยบายการเงิน-การคลังให้สอดคล้องกันมากขึ้น โดยสิ่งที่รัฐบาลกังวลคือ 1.อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันสูงไปหรือไม่ 2.วิธีการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท 3.การเติมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน

ซึ่งนักลงทุนคาดหมายว่า ธปท.มีโอกาสลดดอกเบี้ยในอนาคต โดยในปีนี้มีโอกาสเห็นการลดดอกเบี้ยสัก 1 ครั้ง ราว 25 BPS. สะท้อนตามบอนด์ยีลด์ไทยอายุ 1 ปีถึง 8 ปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ทั้งหมด ซึ่งต้องติดตามการประชุมรอบถัดไปวันที่ 16 ต.ค. 2567 ว่าจะมีมติดังที่ตลาดคาดหมายไว้หรือไม่

เห็นภาพ SET มีโอกาสเกิน 1,500 จุด

ด้านดัชนี SET มีโอกาสเดินหน้าสู่ 1,500 จุด จากโมเมนตัมสนับสนุน 2 ส่วนคือ ไตรมาส 4 ฟันด์โฟลว์มีโอกาสไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติม ทั้งจากการเดินหน้านโยบายรัฐบาล กองทุนวายุภักษ์ หนุนฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้าหุ้นไทยมาแล้วเกิน 3 หมื่นล้านบาท ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

ส่วนระยะถัดไปยังเห็นเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อ จากนโยบายการเงินสหรัฐ ที่มีโอกาสลดดอกเบี้ยเร็วกว่าไทย และหุ้นไทยยังมีโอกาสถูกเพิ่มน้ำหนักจากการ REBALANCE ของดัชนี MSCI รอบหน้า ช่วงต้นเดือน พ.ย. เพราะในช่วงไตรมาส 3 หุ้นไทยพลิกมาบวกแรง 10.3% QTD ขึ้นแรงกว่าหุ้นโลก (MSCI WORLD) ที่ขึ้นเพียง 3.6% QTD ทำให้น้ำหนักหุ้นไทยจะเพิ่มขึ้นในเชิงเปรียบเทียบ

โดยตามกลไก VALUATION เวลาฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดหุ้นมีโอกาสซื้อขายบน MEYG-0.5SD ถึง 1 SD หรือบริเวณ 3.5-3.3% หนุน P/E เพิ่มและดัชนีเป้าหมายเพิ่มขึ้น 73-126 จุด เป็น 1,523-1,576 จุด

กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท หลังค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาเร็วอยู่ใกล้ ๆ 33 บาท/ดอลลาร์ ขณะเดียวกัน บอนด์ยีลด์ 1 ถึง 8 ปี ค่อย ๆ ย่อตัวลงมาต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนคาดหวัง กนง.ลดดอกเบี้ยเช่นกัน ซึ่งตามกลไกเวลาดอกเบี้ยปรับตัวลงทุก ๆ 25 BPS. มีโอกาสที่จะหนุนให้ดัชนีเป้าหมายเพิ่มขึ้นได้ 60 จุด เป็น 1,510 จุด

“สรุปทั้งฟันด์โฟลว์ที่มีโอกาสไหลเข้าหุ้นไทยตลอดไตรมาส 4 รวมถึง กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยมากขึ้น ตามกลไกหนุนให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสซื้อขายบน P/E ที่สูงขึ้นและมีโอกาสเห็นภาพว่า SET INDEX จะสูงกว่า 1,500 จุด ในปีนี้ได้”