ปลัดคลังชงปฏิรูปภาษี โจทย์ท้าทาย-แก้ปมขาดดุลพุ่ง

Lawalon
สัมภาษณ์พิเศษ

“จากนี้ไปเดือน ต.ค. จนถึงธ.ค. จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 3 ส่วนหลัก ๆ คือ หนึ่ง กลุ่มเปราะบางที่จะได้ 10,000 บาท ซึ่งการจับจ่ายใช้สอยของคนกลุ่มนี้เกิดขึ้นแน่ สอง กลุ่มคนชั้นกลางขึ้นมาจนถึงคนรวย จะมีเงินจากกองทุนรวมวายุภักษ์ที่จะเข้ามาในตลาดทุน ซึ่งตลาดทุนคงคึกคักแน่ ในช่วง 3 เดือนนี้ ยังไม่นับกองทุน Thai ESG ที่เข้าไปอีก และสาม งบประมาณปี 2568 ที่ไม่ช้า ออกได้ตามกำหนด ฉะนั้นจะมีการเบิกจ่ายงบฯลงทุนได้ ไม่ติดขัดเหมือนปีที่ผ่านมา ถ้าได้สัก 100,000 ล้านบาท ก็สวยเลย ดังนั้น ผมไม่ห่วงเลยในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้”

“ลวรณ แสงสนิท” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในการให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะที่ในช่วงต้นปี 2568 หากมีเงินดิจิทัลวอลเลต วงเงินอีกกว่า 180,000 ล้านบาทออกมา ก็จะมีโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไปอีก ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

โมเมนตัมเศรษฐกิจกำลังมา

ทั้งนี้ “ลวรณ” กล่าวว่า เชื่อว่า ปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะไม่น่าห่วงเท่ากับปีนี้ อย่างไรก็ดี ในปีนี้ก็ยังคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะโตได้ถึง 3% ต่อปี โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายที่จะโตได้สูง จากเม็ดเงินที่รวม ๆ กันแล้ว 300,000-400,000 ล้านบาท ที่จะเข้าสู่ระบบ

“ถ้าเศรษฐกิจโตได้ดี การเก็บภาษีก็จะดีตามภาวะเศรษฐกิจอยู่แล้ว ถ้าคนอู้ฟู่ คนยิ้มแย้มแจ่มใส คนลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล้วงกระเป๋าเจอเงิน ทุกอย่างก็โอเค ถามว่าปัจจัยลบมีไหม ก็มี อย่างปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ภายนอก แต่ปัจจัยบวกก็มีคือ ดอกเบี้ยสหรัฐลดแน่ และคิดว่าจะลดเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้เงินทุนไหลกลับเข้ามา ผมดูแล้วปีหน้า จะเป็นปีที่มีความคึกคัก ถ้าเทียบกับปี 2567”

รายได้รัฐไม่น่าห่วง-จัดการได้

สำหรับการเก็บรายได้รัฐในปีงบประมาณ 2567 แม้ว่ารายได้ภาษีสรรพสามิตจะหายไป แต่กระทรวงการคลังก็สามารถบริหารจัดการในภาพรวมได้ เพราะรายได้รัฐมีทั้งรายได้ที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี

“ถ้าดูตัวเลข 7 เดือน 8 เดือน จะเห็นว่ารายได้ขาดอยู่ 2 หมื่นกว่าล้านบาท เกือบ 3 หมื่นล้านบาท มาเดือน 10 ลดลงเหลือแค่ 1 หมื่นล้านบาทแล้ว และเดือน 12 ก็จะเข้าเป้า ส่วนปีหน้า เป้าก็อาจจะท้าทาย แต่ทำได้ ถ้าเศรษฐกิจฟื้นอย่างที่คาด”

ADVERTISMENT

ปฏิรูปภาษีโจทย์ท้าทายรัฐบาล

อย่างไรก็ดี “ลวรณ” กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายในระยะต่อไป ก็คือ การปฏิรูปโครงสร้างภาษี ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่สำคัญของรัฐบาลที่ต้องพิจารณาต่อไป เพื่อที่จะลดการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

“การปฏิรูปโครงสร้างภาษี คงต้องมาดู ว่าจะทำอย่างไร เราจะทำงบประมาณขาดดุลไปเรื่อย ๆ หรืออย่างไร หลักง่าย ๆ ก็คือถ้ารายได้ไม่พอรายจ่าย จะต้องทำยังไง ก็ต้องหารายได้ให้มากขึ้น ลดรายจ่ายลง ซึ่งรายจ่ายคงลดยาก และไม่ควรลดด้วย เพราะงบประมาณควรจะลงไปอัดฉีด หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ก็ต้องดู จะเพิ่มรายได้ด้วยวิธีใดได้บ้าง โครงสร้างภาษีที่เหมาะกับบริบทของไทย และของโลก”

ADVERTISMENT

1 ม.ค. 68 เริ่มเก็บภาษีใหม่

ทั้งนี้ ในปี 2568 มีภาษีที่ต้องผลักดันให้มีจัดเก็บ ก็คือ ภาษีส่วนเพิ่ม ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งเดิมประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์การลงทุนด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ แต่ด้วยกติกาโลก ถ้าไทยไม่เก็บ ประเทศอื่นก็จะเก็บ ไทยก็จะไม่ได้อะไรเลย ดังนั้น จึงต้องมีการจัดเก็บขั้นต่ำที่ 15% โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568

เช่นเดียวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะจัดเก็บจากผู้ที่มีเงินได้ในต่างประเทศ โดยต้องนำเงินมาคำนวณภาษีในปีภาษีนั้น ๆ ทันที ไม่ต้องรอให้นำเงินกลับเข้ามาในประเทศแล้ว จากในอดีตที่หากนำเงินได้เข้ามาในประเทศภายในปีภาษีเดียวกับที่เกิดเงินได้ จึงจะเสียภาษี แต่ถ้าข้ามปีก็ไม่เสีย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องดำเนินการจัดเก็บในปีหน้าเช่นเดียวกัน

“มีที่มาที่ไป ก็คือ ธนาคารโลก IMF เขาชี้มาตลอดว่า ตรงนี้เป็นช่องโหว่ทางภาษี แต่เมื่อก่อน เก็บยาก เพราะไม่มีข้อมูล แต่ปัจจุบันเราเข้าไปเป็นสมาชิกภาคีภาษีของโลก มีการออกกฎหมายแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสรรพากรแต่ละประเทศไปแล้ว รวมถึงพวก Tax Haven ต่าง ๆ ด้วย ดังนั้นก็จะเห็นข้อมูลที่ไม่เคยเห็น ก็ต้องเก็บภาษี”

กติกาโลกบีบอุดช่องโหว่ภาษี

“ปลัดกระทรวงการคลัง” กล่าวว่า การเก็บภาษีเงินได้ที่เกิดในต่างประเทศนั้น ประเทศอื่น ๆ ก็เก็บกันหมด มีแต่ไทยที่ยังมีช่องโหว่ตรงนี้ ทำให้คนไทย โดยเฉพาะเศรษฐีที่ไปลงทุนนอกประเทศใช้ช่องว่างนี้ในการบริหารภาษีกันมาตลอด แต่ปีหน้าจะออกกฎหมายมาเก็บทันที

“เหล่านี้ คือกติกาภาษีโลก โลกบีบเรา เขาจะชี้ว่าตรงไหนเป็นช่องโหว่ แล้วเราก็ใช้กฎหมายแลกเปลี่ยนข้อมูล ดำเนินการจัดเก็บเสีย”