
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเผย 8 เดือนแรก ยอดขายหุ้นกู้ใหม่ 6.4 แสนล้าน ลดลง 12% กลุ่มไฮยีลด์หดตัวหนัก 55% นักลงทุนกังวล “ผิดนัด-ยืดหนี้” พุ่ง 2.6 หมื่นล้าน วงในชี้ตลาดฝืดขยาดบริษัทไม่มี “ธรรมาภิบาล-กำไรแย่” หมดยุค Search for Yield จับตา 4 เดือนสุดท้ายครบดีลอีก 2.78 แสนล้าน ขณะที่กองทุนวายุภักษ์เข้ามาแย่งเม็ดเงินลงทุน “กรุงไทย” เผยหุ้นกู้เรตติ้ง A- ถูกดาวน์เกรดหลายบริษัท กดดันขายยาก
นักลงทุนกังวลหุ้นกู้ “ผิดนัด”
นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) ยอดการเสนอขายหุ้นกู้ใหม่ มูลค่ารวม 6.41 แสนล้านบาท ปรับตัวลดลง 12% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) หุ้นกู้กลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) อยู่ที่ 6.04 แสนล้านบาท ลดลง 6% และหุ้นกู้กลุ่มเสี่ยงสูง (High Yield) อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท ลดลงถึง 55%
สาเหตุสำคัญมาจากนักลงทุนมีความกังวลและระมัดระวังในการลงทุนหุ้นกู้โดยเฉพาะกลุ่มไฮยีลด์ หลังจากที่ยังคงมีข่าวเกี่ยวกับหุ้นกู้ผิดนัด (Default) หรือขอยืดอายุหุ้นกู้อยู่เป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้หลายบริษัทขายหุ้นกู้ได้ไม่ครบจำนวน และมีบางส่วนที่ผู้เสนอขาย ประเมินสถานการณ์ตัวเองแล้วเลือกชะลอแผนการออกหุ้นกู้ กรณีนี้บริษัทมักมีแหล่งเงินทุนจากช่องทางอื่น
ครบดีลอีก 2.78 แสนล้าน
อย่างไรก็ตาม สมาคมยังไม่ได้มองว่าตลาดหุ้นกู้อยู่ในสถานการณ์ที่กังวลมาก แต่ก็ยอมรับว่าสถานการณ์ยังไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้น ยังแค่ทรงตัว โดยช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.) จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดอีก 2.78 แสนล้านบาท แยกเป็นหุ้นกู้ Investment Grade มูลค่า 2.46 แสนล้านบาท สัดส่วน 88% และหุ้นกู้ High Yield มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 12%
ถ้าประเมินจากภาวะตลาดในขณะนี้ สถานการณ์ไม่ได้แย่ลงถือว่าทรงตัวและมีแนวโน้มค่อย ๆ จะดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวโน้มการลดดอกเบี้ยในประเทศ ดังนั้นคาดว่าช่วงที่เหลือของปีสถานการณ์ไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่านี้แล้ว และยังมีบริษัทใหญ่ที่ระดมทุนอยู่หลายบริษัท จึงคาดหวังยอดการออกหุ้นกู้ใหม่ในปีนี้จะได้ตามเป้าที่ 9 แสนล้านบาท หรือแตะ 1 ล้านล้านบาท
“วายุภักษ์” แย่งเงินลงทุน
นางสาวศิรินารถกล่าวว่า ส่วนกรณีการเปิดขายกองทุนวายุภักษ์ 16-20 ก.ย.นี้ อาจจะมีส่วนในการดึงเม็ดเงินลงทุนจากตลาดหุ้นกู้ไปบ้าง เพราะคุณสมบัติเทียบเคียงกับหุ้นกู้ แม้จะลงทุนในหุ้นซึ่งมีความเสี่ยง แต่มีกลไกคุ้มครองเงินต้นและมีผลตอบแทนในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 3% แต่ไม่เกิน 9% ทำให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ที่ลงทุนอยู่ในหุ้นกู้เรตติ้งสูง ๆ จะหันมาให้ความสนใจลงทุนกองทุนวายุภักษ์
ผิดนัด-ยืดหนี้พุ่ง 2.6 หมื่นล้าน
นางสาวศิรินารถกล่าวต่อว่า หุ้นกู้ที่มีปัญหาในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่ารวม 26,876 ล้านบาท แยกเป็นหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ 3 บริษัท มูลค่า 1.4 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่มีการขอยืดอายุ 10 บริษัท มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขหุ้นกู้มีปัญหาปีที่แล้วทั้งปีอยู่ที่ 28,806 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ 1.63 หมื่นล้านบาท และขอยืดอายุหุ้นกู้ 1.24 หมื่นล้านบาท
“ปีนี้มี ITD ที่ขอยืดอายุ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท กับ EA วงเงิน 6-7 พันล้านบาท นอกนั้นจะเป็นบริษัทเล็ก ๆ วงเงิน 200-300 ล้านบาท ที่มีการขอยืดอายุหุ้นกู้เพราะมีปัญหาสภาพคล่อง ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในกลุ่มไฮยีลด์ ซึ่งนักลงทุนในหุ้นกู้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ใช่นักลงทุนรายย่อย” นางสาวศิรินารถกล่าว
“อสังหาฯ-บริษัทสินเชื่อ” น่าห่วง
แหล่งข่าวในตลาดหุ้นกู้รายหนึ่งกล่าวว่า หุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์ และหุ้นกู้ไม่ได้ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Nonrated) ชี้ชัดอยู่ว่ายังเป็นตลาดที่ยังคงอ่อนแอถดถอยไม่จบ เซ็กเตอร์ที่น่ากังวลและต้องจับตาอยู่ยังเป็นกลุ่มเดิมคือ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ (Property) ที่การแข่งขันสูง และบริษัทสินเชื่อผู้บริโภค (Consumer Finance) ที่ลูกค้าเป็นกลุ่มเปราะบางซึ่งเสี่ยงเป็นหนี้เสีย อาจกระทบต่อสภาพคล่อง
“บริษัทกลุ่มนี้ที่ขนาดเล็ก ๆ จะรอดจากวัฏจักรนี้ไปได้ ต้องยอมควักเงินผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทมากขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์ก็คงไม่ปล่อยกู้ หรือต้องไปหาพาร์ตเนอร์มาช่วยออกทุนเพื่ออุ้มธุรกิจ โดยเจ้าของเดิมยอมลดสัดส่วนการถือหุ้น ดังนั้นเวลาธุรกิจอ่อนแอ เรามีโอกาสเห็นการเปลี่ยนมือ ทั้งการควบรวมกิจการและการเทกโอเวอร์”
หมดยุค Search for Yield
แหล่งข่าวยังกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตลาดหุ้นกู้ตึงตัวจากที่บริษัทมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล และช่วงหลังแม้ข่าวธรรมาภิบาลหายไป แต่ก็มาเจอปัญหาผลประกอบการแย่ลง ดังนั้นสัญญาณความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ยังคงมีโอกาสเกิดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเรตติ้ง BB, B และ Nonrated จึงเห็นขอเลื่อนการชำระหนี้ออกไปหลายบริษัท สะท้อนหุ้นกู้กลุ่มนี้ยังไม่ฟื้นตัว และไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนให้กลับมาเฟื่องฟูเหมือนยุคก่อนหน้านี้ได้
แม้ว่าจะจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเพื่อแรงจูงใจก็ไม่ได้การันตีว่าจะขายหุ้นกู้ได้มาก เพราะสมัยก่อนจ่ายแพงคนมาต่อคิวซื้อ แต่ตอนนี้ยอมจ่ายแพงขึ้นเชื่อว่าขายได้น้อยลงเหมือนเดิม แม้จะจ่ายดอกเบี้ยสูงระดับ 5-7% ต่อปี เพราะนักลงทุนประเมินแล้วไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น เหมือนแบงก์ปล่อยกู้ได้ดอกเบี้ย 5% แต่พอเป็นเอ็นพีแอล เงินต้นหาย 100% จึงรู้สึกไม่คุ้ม
ปัจจุบันจะเริ่มเห็นสัญญาณว่าพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน (Search for Yield) ของนักลงทุนได้ปรับลดลงต่อเนื่อง ตามตลาดหุ้นกู้ไฮยีลด์หดตัว สะท้อนยุครุ่งเรืองของ Search for Yield ได้ผ่านไปแล้ว ประเด็นนี้มองว่าเป็นสิ่งที่แบงก์ชาติลึก ๆ แล้วน่าจะพึงพอใจ
หุ้นกู้เรตติ้ง A- ถูกดาวน์เกรด
นายสงวน จุงสกุล ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การระดมทุน ผ่านการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในปี 2567 พบว่า บริษัทในกลุ่มผู้ออกหุ้นกู้ Investment Grade ยังเสนอขายได้ตามปกติ แต่ข้อสังเกตคือปีนี้มีหลายบริษัทในกลุ่มเครดิตเรตติ้ง A- ถูกดาวน์เกรดลงไปอยู่ที่ระดับ BBB+
สาเหตุจากผลประกอบการธุรกิจยังไม่กลับมาฟื้นตัว และงบดุลมีสัดส่วนการก่อหนี้มากเกินไป และไม่เตรียมการลดภาระหนี้จากที่เจอภาวะดอกเบี้ยสูงนาน สะท้อนการบริหารจัดการงบดุลไม่อนุรักษนิยมเพียงพอ
ดังนั้น บริษัทที่มีเรตติ้ง A- จะขายหุ้นกู้ยากขึ้น เพราะถึงแม้ว่านักลงทุนสถาบันจะลงทุนได้ตามเกณฑ์ (เกณฑ์ปัจจุบันกำหนดให้นักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ลงทุนหุ้นกู้ได้ตั้งแต่ระดับ A- ขึ้นไป) แต่คาดว่านักลงทุนคงเลือกที่จะลงทุนในจำนวนที่น้อยลงหรือไม่ลงทุน จากประสบการณ์ที่บริษัทถูกดาวน์เกรดมักจะมีปัญหา ทำให้บริษัทเรตติ้ง A- ออกขายหุ้นกู้รุ่นยาว ๆ ได้น้อยลง สะท้อนนักลงทุนกลัวความเสี่ยง ส่งผลให้ตลาดมีความระมัดระวังมากขึ้น
“อย่างไรก็ดี เม็ดเงินที่หลีกเลี่ยงลงทุนในหุ้นกู้เรตติ้ง A- หรือเรตติ้งต่ำกว่านั้น พบว่าจะมาแย่งกันซื้อหุ้นกู้เรตติ้ง A และ A+ ขึ้นไป ของบริษัทที่มีผลประกอบการดีและมีความมั่นคง ทำให้บริษัทในกลุ่มนี้ยังสามารถขายหุ้นกู้ได้ดี”
หุ้นกู้ระดับ B จ่าย ดบ.แพงขึ้น
นายสงวนกล่าวอีกว่า สถานการณ์ต้นทุนการกู้ยืมล่าสุด (12 ก.ย. 2567) เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ถือว่าลดลงสำหรับกลุ่ม Investment Grade แต่กลุ่ม BBB+ และ BBB ลงมายังต้องจ่ายแพงขึ้น แสดงได้ว่าตลาดตั้งราคาหุ้นกู้ได้ถูกต้องเหมาะสมตามระดับความเสี่ยง
“ต้องยอมรับว่าตลาด High Yield ยังไม่ฟื้นตามวงจรเศรษฐกิจ แต่เมื่อสถานการณ์นิ่งกว่านี้ ข่าวร้ายหายไปต่อเนื่องหลายไตรมาส ผลประกอบการและงบดุลเสถียร เมื่อนั้นนักลงทุนก็จะกลับมา Search for Yield อีกครั้ง แต่รอบนี้อาจจะใช้เวลา”
ปัจจัยบวกที่จะช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นกู้ไฮยีลด์กลับมาฟื้นตัวได้นั้น มองว่าภาพตลาดหุ้นไทยต้องกลับมาเฟื่องฟู ซึ่งจะหนุนให้มูลค่าหุ้นขนาดเล็กปรับตัวดีขึ้น และทำให้งบดุลบริษัทแข็งแรงขึ้นในส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ซึ่งเชื่อว่าฝั่งการระดมทุนก็จะเปิดมากขึ้น แต่อาจต้องใช้เวลาหลายไตรมาส