ดอลลาร์ Sideways จับตาประชุมเฟดวันแรกคืนนี้

ธนบัตร U.S.dollar banknotes
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์ Sideways จับตาประชุมเฟดวันแรกคืนนี้ ขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group ชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 69% ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมรอบนี้ ขณะที่ 31% เชื่อเฟดลดดอกเบี้ยแค่ 0.25%

วันที่ 17 กันยายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 33.34/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/9) ที่ระดับ 33.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดตลาดค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น และเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ท่ามกลางการจับตารอผลการประชุมนโยบายการเงิน FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 ก.ย. 2567 อย่างใกล้ชิด โดยการประชุมของเฟดครั้งนี้ ตลาดให้ความสำคัญอย่างมากเนื่องจากการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะเริ่มดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

หลังจากที่ผ่านมาเฟดได้ดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งติดต่อกันในระยะเวลา 14 เดือน เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งในขณะนี้ได้ทะยอยปรับตัวลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงคาดเดาเกี่ยวกับขนาดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ซึ่งจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 69% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ขณะที่ 31% คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% นอกจากนี้นักลงทุนยังให้ความสำคัญกับสัญญาณทิศทางนโยบายการเงินของเฟดในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.23-33.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

ด้านปัจจัยภายในประเทศในระยะนี้ นอกจากนักลงทุนจะติดตามผลการประชุมเฟดแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องติดตาม อาทิ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและพันธบัตร โดยเฉพาะกองทุนวายุภักษ์ การเคลื่อนไหวของเงินเยน และการปรับตัวของราคาทองคำ ซึ่งมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา โดยราคาทองคำยังคงทำสถิติสูงสดในประวัติการณ์อย่างต่อเนื่องเมื่อวานนี้ที่ระดับ 2,589.59 เหรียญต่อทอยออนซ์ และในวันนี้ราคาทองยังคงปรับตัวแคบๆ แถวบริเวณ 2,585 เหรียญต่อทอยออนซ์

ส่วนค่าเงินปอนด์เปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/9) ที่ระดับ 1.3213/3214 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/9) ที่ระดับ 1.3191/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์ โดยในระยะนี้ตลาดจับตาดูตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อที่จะประกาศในวันที่ 17 ก.ย. 2567 และผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ก.ย. 2567

Advertisment

โดยตลาดคาดการณ์ว่า BOE จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ แต่จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในเดือน พ.ย.หรือ ธ.ค. ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินปอนด์เคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.3195-1.329 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.3223/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/9) ที่ระดับ 140.65/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (9/9) ที่ระดับ 140.14/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวานนี้ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 ปี แตะระดับ 139.96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากกระแสการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์เกี่ยวกับการทำ Unwind Yen Carry Trade ครั้งใหญ่ของนักลงทุนในเดือนกันยายนอีกครั้ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินของเฟด

นอกจากนี้ นักลงทุนรอผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์ที่ 20 ก.ย. 2567 โดยจากการแสดงความคิดเห็นของ มาคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ และกรรมการอีกหลายท่านในช่วงที่ผ่านมา ส่งสัญญาณว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ แต่ก็เปิดโอกาสสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาดการณ์ รวมถึงการติดตามผลกระทบจากความผันผวนของตลาด

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 140.30-141.24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 140.52/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือน ส.ค.จากสหรัฐ, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. จากสหรัฐ, สต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน ก.ค.จากสหรัฐ และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ก.ย.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) จากสหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.1/-7.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7-5.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ