เปิดรายงานวิเคราะห์ธุรกิจสื่อ โดย ตลท.-ทริสเรทติ้ง พบแนวโน้มรายได้ลดลง การแข่งขันเน้นลดต้นทุน ฟื้นกำไร ขณะที่ภาพในอีก 12 เดือนข้างหน้า รายได้แนวโน้มอ่อนตัวตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานการวิเคราะห์อุตสาหกรรมแยกตามรายธุรกิจ “แนวโน้มธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์” ซึ่งจัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ระบุว่า แนวโน้มใน 12 เดือนข้างหน้า รายได้ของธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์คาดว่าจะอ่อนตัวลง ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จำกัดขณะที่ภาระต้นทุนการผลิต การขาย และการดำเนินงานยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เป็นแรงกดดันต่อการทำกำไรของผู้ประกอบการต่อไป
ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มที่จะเข้มข้นมากขึ้น โดยการแข่งขันมุ่งเน้นการลดต้นทุนเพื่อฟื้นกำไร การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ทำได้ง่ายขึ้น การผลิตเนื้อหาสื่อมีความหลากหลายมากขึ้น การสร้างรูปแบบธุรกิจครบวงจร และการจับมือเพื่อสร้างพันธมิตรธุรกิจร่วมกันของผู้ประกอบการ
5 ประเด็นการแข่งขันน่าสนใจ
ทริสเรทติ้งมองว่าการแข่งขันที่น่าสนใจและน่าจับตามองในธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์มี 5 ด้าน ได้แก่ การแข่งขันลดต้นทุนผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในธุรกิจได้ง่ายขึ้น การผลิตเนื้อหาสื่อมีความหลากหลายมากขึ้น การปรับโครงสร้างธุรกิจให้เป็นสื่อครบวงจร และการจับมือสร้างพันธมิตรธุรกิจ
การแข่งขันมุ่งเน้นการลดต้นทุน เพื่อฟื้นกำไร
ธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ของไทยพัฒนามาถึงจุดเปลี่ยน (Secular Change) ที่พฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคมีการตอบสนองต่อการนำเสนอสื่อผ่านแพลตฟอร์มแบบออนไลน์อย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการจึงต้องเพิ่มการลงทุนใหม่ในระบบออนไลน์ รวมถึงการลงทุนด้านผลิตเนื้อหาสื่อ และการนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาช่วยให้เกิดประสิทธิภาพ การแข่งขันจึงมุ่งเน้นในการควบคุมต้นทุนเพื่อฟื้นกำไร และนำมาซึ่งการลดจำนวนพนักงานเก่าที่เคยรองรับรูปแบบธุรกิจสื่อโทรทัศน์ดิจิทัลแบบเดิมลงอย่างต่อเนื่อง
การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ทำได้ง่ายขึ้น
ด้วยอัตราการเข้าถึงสื่อและโซเซียลมีเดียของคนไทยอยู่ในระดับสูง ผู้บริโภคจึงสามารถเข้าถึงตลาดได้ในหลากหลายช่องทาง ทั้งดิจิทัล ออนไลน์และออฟไลน์ด้วยโครงสร้างและห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจของธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ที่กว้าง และความต้องการที่ยังเพิ่มขึ้นตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภค
กอปรกับการทำสื่อบนแพลตฟอร์มแบบออนไลน์และโซเชียลมีเดียที่ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาออกอากาศและมีต้นทุนต่ำอุปสรรคในการเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้จึงลดลง และผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้น
การผลิตเนื้อหาสื่อมีความหลากหลายมากขึ้น
ในส่วนของการผลิตเนื้อหาสื่อ มีการปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลาย ทันต่อเหตุการณ์สามารถตอบโจทย์ตามความต้องการและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเนื้อหาจะมุ่งเน้นตลาดเฉพาะด้าน และเน้นวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ เช่น ความงาม สุขภาพ ท่องเที่ยว อาหาร และกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ รวมถึง การทำละครซีรีส์และภาพยนตร์สำหรับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และการให้บริการผลิตสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัยที่มีความหลากหลายและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น
การปรับโครงสร้างธุรกิจให้เป็นสื่อครบวงจร
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการแข่งขัน รวมทั้ง ลดแรงกดดันจากต้นทุนการจัดการและต้นทุนลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายมีการปรับโครงสร้างธุรกิจและควบรวมธุรกิจให้เป็นสื่อครบวงจร รวมทั้ง การใช้กลยุทธ์ผสมผสานสื่อ โดยบริษัทดำเนินธุรกิจในด้านการผลิตเนื้อหาสื่อและการเผยแพร่เนื้อหาสื่อผ่านทั้งทางช่องทางโทรทัศน์ดิจิทัล ช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์กันทางธุรกิจและประโยชน์ในการลดต้นทุน เช่น การปรับโครงสร้างธุรกิจของ AMARIN, GRAMMY, NATION และ WORKPOINT
การจับมือสร้างพันธมิตรธุรกิจ
เพื่อพัฒนาคุณภาพของเนื้อหาสื่อ จึงมีการจับมือสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการใช้ความชำนาญของผู้ประกอบการในการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ เช่น MAJOR ร่วมลงทุนผลิตภาพยนตร์กับ WORKPOINT กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และกับช่อง 7 รวมทั้งร่วมลงทุนในบริษัทผลิตภาพยนตร์เพื่อสร้างภาพยนตร์ที่มีคุณภาพสำหรับรองรับตลาดทั้งในและนอกประเทศ
วิเคราะห์ผลประกอบการกลุ่มธุรกิจสื่อ
รายได้ของกลุ่มธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ เทียบระหว่างปี 2564-2566 พบว่า มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน ต้นทุนขายและบริการ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนรายได้ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 เทียบกับปี 2566 มีรายได้รวมที่ลดลง แต่ต้นทุนขายและบริการก็ลดลงด้วยเช่นกัน
ทริสเรทติ้งวิเคราะห์ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจสื่อและสื่อสิ่งพิมพ์ ไว้ 3 ประเด็น ดังนี้
แนวโน้มรายได้ลดลง
รายได้รวมของผู้ประกอบการสื่อและสิ่งพิมพ์ในครึ่งแรกของปี 2567 (1H67) ปรับตัวลดลง 4.60% จากปีก่อนหน้า โดยรายได้รวมของผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์ดิจิทัลและสำนักพิมพ์ลดลง 12.16% และ 7.85% ตามลำดับ
ในขณะที่รายได้รวมของผู้ประกอบการสื่อโฆษณานอกบ้านอย่างเช่น PLANB และ VGI ยังคงเติบโตที่ 5.47% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่อเนื่องจากปี 2566 และมีแนวโน้มที่จะดีต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2567
สำหรับผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์ดิจิทัลกลับมีรายได้โฆษณาและขายช่วงเวลาโฆษณาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งแรกของปี 2567 ปรับตัวลดลง 5.6% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากลูกค้าที่ต้องการใช้สื่อโฆษณามีทางเลือกในการใช้สื่อโฆษณาบนแพลตฟอร์มแบบออนไลน์และโซเชียลมีเดียที่มีต้นทุนต่ำกว่าและเข้าถึงได้ง่ายกว่า
ต้นทุนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้กำไรลดลง
ด้วยต้นทุนขายและบริการของธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ที่ยังอยู่ในระดับสูงมาตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ทำให้กำไรสุทธิลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2564 ถึงปี 2566 ในช่วง 1H67 แม้ต้นทุนขายและบริการเริ่มปรับลดลง 5.15% แต่กำไรสุทธิยังลดลง 35% จากปีก่อนหน้า แรงกดดันจากต้นทุนจัดการและต้นทุนลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดจำนวนพนักงานลงอย่างต่อเนื่องและหันมาลงทุนในระบบทีวีออนไลน์มากขึ้น
สภาพคล่องและการก่อหนี้ยังทรงตัว
อัตราการก่อหนี้ของผู้ประกอบการสื่อและสิ่งพิมพ์มีระดับไม่สูงนัก โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 0.3 ถึง 0.4 เท่าในช่วงปี 2564 ถึงปี2566 ขณะที่อัตราส่วนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.25 เท่า ในช่วง 1H67 ในด้านสภาพคล่องของผู้ประกอบการสื่อและสิ่งพิมพ์นั้น ยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 35% ในช่วงปี 2564 ถึงปี 2566 และมีแนวโน้มทรงตัวในปี 2567
12 เดือนข้างหน้า แนวโน้มกำไรอ่อนตัว
ทริสเรทติ้งระบุ 3 ประเด็นที่ทำให้มองแนวโน้มรายได้ธุรกิจสื่อและสื่อสิ่งพิมพ์ มีกำไรอ่อนตัว ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ดังนี้
ข้อจำกัดจากปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต
เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคถดถอยลงตั้งแต่ไตรมาส 1 จึงไม่เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจในปี 2567 โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ดิจิทัลที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันจากสื่อออนไลน์รวมทั้ง การให้พนักงานกลับไปทำงานตามปกติของหลายภาคส่วนเป็นการจำกัดเวลาในการรับสื่อผ่านโทรทัศน์ที่บ้าน จึงสร้างแรงกดดันให้รายได้ของโทรทัศน์ดิจิทัลไม่ขยายตัวเท่ากับในปี 2565 และปี 2566
รายได้และกำไรยังมีแนวโน้มอ่อนตัวลง
รายได้และกำไรของธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์คาดว่าจะอ่อนตัวลงต่อไป ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและการหดตัวด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะที่ต้นทุนการผลิตและบริการลดลงได้ไม่มากและต้องลงทุนในระบบใหม่ จึงทำให้ความสามารถในการทำกำไรไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีในอนาคต
รายได้โฆษณาของโทรทัศน์ดิจิทัลยังมีแนวโน้มลดลง
การเติบโตของสื่อโฆษณาออนไลน์ที่เข้ามาแข่งขันกับโทรทัศน์ดิจิทัล รวมทั้งทางเลือกในการทำกิจกรรม ณ จุดขาย หรือการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายให้มากขึ้น เป็นปัจจัยที่ยังทำให้รายได้โฆษณาของโทรทัศน์ดิจิทัลมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในครึ่งหลังของปี 2567
4 ปัจจัยหลัก ธุรกิจสื่อเผชิญความเสี่ยง
ทริสเรทติ้งระบุอีกว่า ธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์เผชิญความเสี่ยงหลัก ได้แก่
ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศลดลง ทริสเรทติ้งคาดการณ์การเติบโตของ GDP ที่แท้จริงที่ 2.6% ในปี 2567 โดยมีการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของการส่งออกเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก และมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกในภาคบริการอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ความเสี่ยงจากการแข่งขันที่สูงขึ้น
การแข่งขันผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เข้าถึงง่ายและต้นทุนต่ำ ทำให้เกิด Digital disruption ที่กระทบต่อ
ผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิทัลโดยตรง ผู้ประกอบการจึงต้องปรับกลยุทธ์และโครงสร้างธุรกิจเพื่อตั้งรับกับภาวะการแข่งขัน
ขณะเดียวกัน สื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อดั้งเดิมยังคงได้รับผลกระทบจากการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภค ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ จึงถดถอยลงอย่างมาก โดยล่าสุด POST มีการเพิกถอนจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ความเสี่ยงจากการหมดอายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัล
ในขณะที่ใบอนุญาตประกอบการโทรทัศน์ดิจิทัลจะหมดอายุทุกช่องในปี 2572 ผู้ประกอบการจึงมีความ
เสี่ยง เนื่องจากยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะมีการเปิดประมูลใหม่ หรือต่ออายุสัญญา หรือมีแนวนโยบายอย่างไร
ทั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังทำการศึกษาแนวทาง ประเมินสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรม รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลและรับข้อเสนอแนะ
เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจวางนโยบายต่อไป
ความเสี่ยงด้านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เริ่มบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ซึ่งกระทบต่อการนำเสนอเนื้อหาข่าวของผู้ประกอบการสื่อที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทำให้การผลิตเนื้อหาสื่อต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และมีแนวปฏิบัติในการผลิตและเผยแพร่เนื้อหาสื่อที่ปฏิบัติเป็นมาตรฐานร่วมกันและสอดคล้องกับกฎหมาย