ซีไอเอ็มบี ไทย เชื่อ กนง. ยังไม่รีบลดดอกเบี้ย แม้เฟดหั่นแรง 0.50%

CIMBT

“ดร.อมรเทพ ซีไอเอ็มบี ไทย” ชี้เฟดลดดอกเบี้ย 0.50% ลดแรงเพื่อดับความกังวล เชื่อ กนง.ไม่รีบลดดอกเบี้ยตามทันที รอดูข้อมูลเศรษฐกิจก่อน

วันที่ 19 กันยายน 2567 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ระดับ 5.00% และฉายภาพทิศทางดอกเบี้ยปลายปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 4.50% และปลายปีหน้าที่ระดับ 3.50% ซึ่งต่ำกว่าการให้มุมมองในรอบการประชุมในเดือนมิถุนายนที่มองอัตราดอกเบี้ยปีนี้ที่ 5.25% และปลายปีหน้าที่ 4.25%

ทั้งนี้ เฟดยังให้มุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐไว้ที่ 2.0% ใกล้เคียงกับรอบก่อนที่ 2.1% ขณะที่อัตราว่างงานน่าจะอยู่ที่ระดับ 4.4% สูงกว่าที่มองรอบก่อนที่ 4.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ หรือ PCE น่าจะอยู่ที่ระดับ 2.3% ต่ำลงกว่าที่เคยประมาณการไว้รอบก่อนที่ 2.6%

“ผมมองว่าการที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยแรงในรอบแรกที่ระดับ 0.50% แทนที่จะเป็นระดับปกติที่ 0.25% เนื่องจากสองปัจจัย หนึ่งเพื่อช่วยให้ตลาดคลายความกังวลว่าเฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยแรงในครั้งถัดไปหรือไม่ ซึ่งการปรับลดแรงในรอบแรกก็อาจไม่จำเป็นต้องปรับลดแรงเช่นนี้ในรอบการประชุมเดือนพฤศจิกายน

และสองคือการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนว่าเฟดพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย มองต่อไป ผมเชื่อว่าเฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกสองครั้ง ครั้งละ 0.25% แต่อาจปรับลดมากกว่านี้ หากตัวเลขอัตราว่างงานสูงขึ้นหรืออัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าคาด

ซึ่งเชื่อว่าตลาดรับรู้ข่าวนี้มากแล้ว และไม่น่ากังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเชื่อว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้ปรับตัวย่อลงมารับข่าวนี้แล้ว และไม่น่าลดลงได้มากไปอีกจนทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว”

ADVERTISMENT

ส่วนทิศทางดอกเบี้ยของไทยนั้น ดร.อมรเทพกล่าวว่า เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือนตุลาคม โดยไทยยังไม่น่าลดอัตราดอกเบี้ยในทันที รอปัจจัยชี้นำในเดือนพฤศจิกายน 3 ด้าน หนึ่ง เพื่อรอทิศทางการฟื้นของเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ไตรมาส 3 ซึ่งน่าจะชะลอกว่าที่แบงก์ชาติคาดจากปัญหาน้ำท่วมกระทบกำลังซื้อของครัวเรือนและภาคเกษตร

สอง เพื่อติดตามผลการลดดอกเบี้ยของสหรัฐตลาดที่จะลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และตลาดไม่น่าแตกตื่น

ADVERTISMENT

และสาม เพื่อรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งหากกรณีผู้นำใหม่ที่มีนโยบายกีดกันทางการค้าได้ชัยชนะก็อาจมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องดูด้วยว่าพรรคผู้นำจะได้เสียงข้างมากในสภาสูงและสภาล่างด้วยหรือไม่ ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายราบรื่นขึ้น หรือจะเกิดความเสี่ยงด้าน Government Shutdown

“อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่า กนง.น่าลดดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม หลังมีความชัดเจนในตลาดเงินตลาดทุนและมาตรการแจกเงินน่าจะมีความชัดเจนว่าไม่น่าทำให้เงินเฟ้อ ซึ่ง กนง.น่าลดดอกเบี้ย 0.25% เหลือระดับ 2.25% อย่างไรก็ดี แบงก์ชาติอาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากสองส่วน หนึ่งคือกังวลอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูง ทั้งจากมาตรการแจกเงินเฟสสองและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือหากคลังปรับลด FIDF ก่อน ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ลดลงตามโดยไม่ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ซึ่งหาก กนง.ไม่ลดดอกเบี้ยในเดือนตุลาคม ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า คลังจะลด FIDF 0.23% ซึ่งน่าช่วยให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินปรับลดลงได้ โดยไม่กระทบเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน หรือคลังอาจเลือกจัดเก็บ FIDF มาตั้งกองทุนใหม่เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากหนี้สูง โดยไม่ได้ทำให้ดอกเบี้ยลดลง แต่ดูแลผู้มีปัญหาเฉพาะจุด ซึ่งทั้งสองส่วนน่าพอช่วยให้เศรษฐกิจไทยลดความเสี่ยงการชะลอตัวได้”