เงินบาทผันผวน รับเฟดลดดอกเบี้ย และถ้อยแถลงของพาวเวลล์

เงินบาท

ค่าเงินบาทผันผวน รับเฟดลดดอกเบี้ยและถ้อยแถลงของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มเคลื่อนตัวสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (19/9) ที่ระดับ 33.48/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (18/9) ที่ระดับ 33.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ 11 ต่อ 1 ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ซึ่งถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งขณะนั้นเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากไม่นับภาวะฉุกเฉินนั้น ครั้งสุดท้ายที่เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% เกิดขึ้นในปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก

ในส่วนของการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ภายในสิ้นปีนี้ โดยเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปี 2568 และ 0.50% ในปี 2569 โดยรวมแล้ว Dot Plot บ่งชี้ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2.00%

นอกจากนี้ ภายหลังการประชุม นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ได้มีแถลงการณ์ว่า ข้อมูลที่เฟดได้รับเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่ง ขณะที่การจ้างงานชะลอตัวลง และอัตราว่างงานปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังคงอยูในระดับต่ำ

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง แต่มีแนวโน้มในการเคลื่อนตัวสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% การที่เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับจุดยืนด้านนโยบายการเงินให้เป็นกลางมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ดำเนินนโยบายลักษณะแข็งกร้าวตรึงดอกเบี้ย

ADVERTISMENT

โดยเฟดจะตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเป็นครั้ง ๆ ไป และไม่มีการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า อีกทั้งมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญและมีความตั้งใจที่จะทำให้ภาวะในตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากเป้าหมายของเฟดคือการทำให้เงินเฟ้อกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้งและไม่ทำให้อัตราว่างงานสูงขึ้นอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าสู่ระดับ 33.07 หลังเฟดประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จะปรับตัวอ่อนค่าสู่ระดับ 33.50 ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด รวมถึงแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตของเฟด ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาพการเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดได้คาดหวัง

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างวันค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าลงสู่ระดับ 33.10 อีกครั้งท่ามกลางการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำที่ระดับ 2,600 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.09-33.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.08/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้านี้ (19/9) ที่ระดับ 142.27/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (18/9) ที่ 141.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันพรุ่งนี้ (20/9) หลังจากที่ทาง BOJ ได้ยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลานาน ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 141.88-143.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 142.77/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/9) ที่ระดับ 1.1117/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (18/9) ที่ 1.1136/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปรายงานว่า ตัวเลขเงิเฟ้อขั้นสุดท้ายของยูโรโซนในเดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 2.2% ลดลงมาจาก 2.6% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณไว้ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ นายเกดิมินัส ซิมคุส กรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้เพียง เล็กน้อยเท่านั้นที่ ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมนโยบายการเงินครั้งถัดไป (17/10) หลังจากที่มีมติลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งล่าสุด (12/9)

ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า กรรมการนโยบายการเงินของ ECB หลายรายส่งสัญญาณว่า การประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2567 (12/12) เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ ECB ขณะที่คริสติน ลาการ์ด ประธานของ ECB กล่าวว่า จะต้องเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่จึงจะกระตุ้นให้ ECB ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่านั้น

ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1167-1.1178 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1177/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมา 2/2567, ดัชนีการผลิต เดือน ก.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ส.ค., ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ส.ค. จาก Conference Board รวมถึงการประชุมนโยบายการเงินธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.3/-7.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ -8.5/-7.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ