ธพว.ผุดแอปฯปล่อยกู้ SMEs ชงแบงก์ชาติไฟเขียวรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อ

ธพว.ยื่นขอแบงก์ชาติอนุมัติเปิดใช้แอปพลิเคชั่น “SME D BANK” หวังอำนวยความสะดวกลูกค้าเอสเอ็มอียื่นคำขอสินเชื่อสะดวก-ง่ายขึ้น ดันยอดปล่อยสินเชื่อรวมปีนี้เข้าเป้า 7 หมื่นล้านบาท หลังไตรมาสแรกยังปล่อยได้แค่ 8 พันล้านบาท

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีดีเวลอปเมนต์แบงก์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธนาคารกำลังปรับระบบการให้เอสเอ็มอีสามารถยื่นคำขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่น “SME D BANK” โดยจะเน้นคำขอสินเชื่อที่รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือเป็นเอสเอ็มอีรายย่อย ซึ่งแอปพลิเคชั่นจะมาช่วยให้การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อทำได้เร็วขึ้น เนื่องจากเอสเอ็มอีจะสามารถมีช่องทางเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกและง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2561 นี้ ธนาคารจะพยายามปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อย ๆ ให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ แบ่งเป็นสินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว วงเงิน 50,000 ล้านบาท ที่มุ่งช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท 3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี สามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันฟรี 4 ปีแรก ซึ่งการกู้ 1 ล้านบาท จะผ่อนเพียง 460 บาทต่อวันเท่านั้น

2.สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 วงเงิน 8,000 ล้านบาท วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท มุ่งสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มนิติบุคคลที่ประสบปัญหาด้านการเงิน เข้าถึงแหล่งทุนยาก เงินทุนไม่พอ รวมถึงต้องการเริ่มต้นธุรกิจ หรือเปลี่ยนแปลงธุรกิจ สามารถยื่นกู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดดอกเบี้ย 1% ต่อปี คงที่ตลอดระยะเวลา 7 ปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก และ 3.สินเชื่อแฟกตอริ่ง วงเงิน 12,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 4% ต่อปี

“ตอนนี้การปล่อยสินเชื่อรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ยังปล่อยได้ไม่มาก ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยปัจจุบันเรายังใช้พนักงานในการดำเนินการอยู่ แต่เราอยู่ระหว่างขออนุญาตจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากการใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าเดือน มิ.ย.น่าจะเริ่มใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวได้ ซึ่งจะช่วยให้สินเชื่อตัวที่คิดดอกเบี้ย 3% กับ 1% นี้เต็มวงเงินได้เร็วขึ้น เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยก็เริ่มเป็นขาขึ้นแล้วด้วย” นายมงคลกล่าว

นายมงคลกล่าวด้วยว่า ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ธนาคารมีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว ส่วนสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 มีการอนุมัติสินเชื่อไปกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากเพิ่งเริ่มโครงการ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีคำขอสินเชื่อเข้ามาเพิ่มอีกกว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาอนุมัติของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม คำขอสินเชื่อดังกล่าว เป็นการแสดงความต้องการใช้สินเชื่อ (รีเควสต์ฟอร์โลน) ที่ธนาคารได้ทดลองให้เอสเอ็มอีส่งความต้องการเข้ามา แต่ยังไม่ถือว่าเป็นการส่งแบบฟอร์มขอสินเชื่อที่เป็นทางการ ซึ่งหลังจากนี้ ทางธนาคารจะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าว่า เข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ หากเข้าหลักเกณฑ์ก็จะให้ยื่นคำขอกู้ตามแบบฟอร์มที่จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบเครดิตต่อไป