ธปท. ลั่น ไทยไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามเฟด-ไม่ประชุมนัดพิเศษ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้ว่าการ ธปท. ชี้ไทยไม่จำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ยตามเฟด ยันนโยบายการเงินยึดกรอบ 3 ด้าน ไม่ต้องมีประชุมนัดพิเศษ ขณะที่สถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ยอมรับระยะหลังแข็งค่าเร็ว ภาพรวมปีนี้แข็งค่าแล้ว 3.1% พร้อมจับตา “Hot Money”

วันที่ 20 กันยายน 2567 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ถือว่าไม่น้อย แต่จะเห็นว่าผลกระทบต่อตลาดโดยรวมได้รับรู้และเกิดผลไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น หลังตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับลดดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้สกุลเงินในภูมิภาคและเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น และช่องทางกระทบในฝั่งตลาดเงินผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) บ้าง ส่วนผลกระทบในแง่เศรษฐกิจไม่ได้มากมาย เพราะเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่พึ่งพาระบบธนาคาร

อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่าและผันผวนเร็วในช่วงหลัง โดยนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่าแล้ว 3.1% ซึ่งเดิมแข็งค่าใกล้เคียงกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันใกล้เคียงเกาหลี นอกจากปัจจัยดอลลาร์ที่อ่อนค่าแล้ว ไทยยังมีผลมาจากปัจจัยเรื่องของราคาทองคำที่สูงเป็นประวัติศาสตร์ เนื่องจากสกุลเงินบาทมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำมากกว่าประเทศอื่น และเคลื่อนไหวสูงกว่าภูมิภาค ทำให้เห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ หากดูผลกระทบเงินบาทต่อภาคการส่งออก จะเห็นว่าในเชิงปริมาณของการส่งออกไม่ได้ปรับลดลง ซึ่งปัจจัยจะมีผลการส่งออก คือ ความต้องการสินค้าของโลกขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจคู่ค้า ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ แต่ยอมรับว่าจะกระทบต่อส่วนต่างกำไร (มาร์จิ้น) บ้าง

“เราไม่อยากเห็นค่าเงินบาทผันผวนเร็วและเยอะ แต่ช่วงหลังผันผวนเพิ่มขึ้น โดยสิ่งที่เราทำคือ 1.ดูที่มาของการแข็งค่ามาจากปัจจัยอะไร ซึ่งมาจากดอลลาร์อ่อนค่าจากเฟดลดดอกเบี้ย เป็นการปรับไปตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่เราไม่อยากเห็นคือ การแข็งค่าที่ไม่สะท้อนปัจจัยเชิงพื้นฐาน เช่น การเก็งกำไรค่าเงิน หรือ Hot Money ซึ่งดูตอนนี้ยังไม่เห็น เพราะกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ปีนี้นับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบัน ไหลออกราว 2.2 พันล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นและการเมืองที่ดีขึ้น เมื่อเทียบปีก่อนไหลออก 9.9 พันล้านดอลลาร์”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า สำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน มองว่า แม้ว่าเฟดปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ไม่ใช่เฟดลดแล้วไทยต้องลดตาม เนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เช่นฮ่องกงที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ทำให้เฟดลดดอกเบี้ยและต้องลดตาม อย่างไรก็ดี เฟดลดดอกเบี้ยมีความสบายใจมากขึ้น ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีแนวโน้ม Soft Landing มากขึ้น ซึ่งเป็นการซื้อประกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ได้ Hard Landing

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของไทยยังคงยึดกรอบ 3 ด้าน คือ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจเข้าสู่ศักยภาพ 2.เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3% และ 3.เสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งหากดูปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ระดับศักยภาพ โดยพิจารณาจากข้อมูลมองไปข้างหน้ามากกว่าข้อมูลปัจจุบัน หรือตัวเลขจีดีพี ซึ่งจะไม่ทันการณ์ เช่นเดียวกับอัตราเงินที่คาดว่าจะกลับเข้ากรอบ แม้ว่าจะช้ากว่าคาดการณ์ ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่ได้มีการเปลี่ยนไปจากเดิม และเป็นไปตามอย่างที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ ธปท.กังวลจะเป็นเรื่องของเสถียรภาพระบบการเงิน จะเห็นว่าความเสี่ยงทางด้านเครดิต (Credit Risk) สูงขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อเข้มข้นขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ ธปท.ติดตามใกล้ชิด

ADVERTISMENT

“ตอนนี้ Outlook Dependent ยังไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไป ซึ่งเรามองว่ากรอบ Outlook เป็นกรอบที่เหมาะสม เพราะที่อื่นจะเน้นเรื่อง Data Dependent ซึ่งจะสร้าง Noise ให้กับตลาดไปเยอะพอสมควร หากเราโฟกัสข้อมูลล่าสุดเกินไป เพราะในตลาดมีความผันผวนเยอะอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ยึดติดว่าดอกเบี้ยจะต้องอยู่เท่านี้ เราพร้อมเปลี่ยนแปลงหาก Outlook เปลี่ยน และตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีการประชุมนัดพิเศษ”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน และจะกระตุ้นหนี้ใหม่เยอะแค่ไหน โดยปัจจุบันจะเห็นว่าครัวเรือนมีปัญหาหนี้ไม่น้อย แต่จะเห็นว่าในสัดส่วนหนี้ มีทั้งอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) และดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ดังนั้น ไม่ใช่ลดดอกเบี้ยปุ๊บภาระหนี้จะลดลงทันที

ขณะเดียวกัน จะเห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวลักษณะ K-shape แต่จะเห็นว่า K ขาล่างฐานกว้างขึ้น ซึ่งดอกเบี้ยเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่มี ภายใต้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ Policy Mixed ทำให้มาตรการลดภาระหนี้ของคน เช่น กลุ่มเปราะบางลดดอกเบี้ยไม่ได้ผลมากเท่าการช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ก่อน และหลังเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

“การลดดอกเบี้ยลิงก์กับหนี้อย่างไร เป็นสิ่งที่เราต้องชั่งน้ำหนัก โดยจะมีผล 2 ส่วนคือ ลดดอกเบี้ยมีผลต่อหนี้เก่าอย่างไร และหากลดดอกเบี้ย สินเชื่อก็ขึ้นเร็ว หนี้ใหม่เพิ่มขึ้นเร็ว ดังนั้น เราต้องชั่งน้ำหนักทั้ง 2 ตัว เราไม่อยากเห็นหนี้ครัวเรือนโตพุ่ง แต่เราก็ไม่อยากให้เหยียบเบรก”