
ผู้ว่าการ ธปท. ชี้การดำเนินนโยบายการเงินมีต้นทุน รับบางครั้งต้องทำสวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ลั่นธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
วันที่ 20 กันยายน 2567 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางถือว่าเป็นต้นทุน มีหน้าที่ที่จะต้องรักษาสมดุลในระยะสั้นและระยะยาว
ดังนั้น หน้าที่ในการมองยาวของธนาคารกลางจึงต้องมาพร้อมกับความอิสระในการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าว ส่งผลให้การทำหน้าที่ของธนาคารกลางในหลาย ๆ ครั้งต้องดำเนินนโยบายในลักษณะที่สวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อทุกภาคส่วนเป็นวงกว้าง และย่อมมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์
“หากธนาคารกลางไม่อิสระเพียงพอ ก็อาจทำให้เสียหลักการของการมองยาว ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา เช่น งานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในปี 2566 พบว่าประเทศที่ธนาคารกลางเป็นอิสระและน่าเชื่อถือสามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดีกว่า และประสบความสำเร็จในการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ”
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ดำเนินการในหลาย ๆ ด้านเพื่อช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่คำนึงถึงเสถียรภาพเป็นสำคัญ ให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบ รวมถึงการออกเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มและทั่วถึง
“การแก้ไขจะต้องสร้างความสมดุล อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี น้อยเกินไปก็ไม่ดี เพราะเราจะเห็นว่าการทำนโยบายทุกยุคทุกสมัยไม่ได้ให้ความสำคัญกับอนาคตพอสมควร ซึ่งทุกคนรู้ว่าควรจะทำอะไร แต่ก็กลัวว่าจะไม่ได้รับเลือกกลับมาอีก จึงเน้นระยะสั้น ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การเจ็บปวด การเสียสละ จึงถูกผลักไปเรื่อย ๆ” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว