“บาทแข็ง” เร็ว-แรง เขย่าส่งออก ธปท.ลั่นไม่รีบลดดอกเบี้ยตามเฟด

เงินบาท ดอกเบี้ย

ผู้ว่า ธปท.ยอมรับเงินบาทผันผวนแข็งค่าเร็ว พร้อมจับตา Hot Money ลั่นไม่จำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ยตามเฟด นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง กนง.ไม่รีบลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ต.ค. รอดูตัวเลขเศรษฐกิจ กรุงศรีฯเผยแค่ 3 เดือน เงินบาทแข็งค่าพุ่ง 10% สะเทือนส่งออก เอฟเฟ็กต์ถึงนักท่องเที่ยว สภาผู้ส่งออกหวั่น กระทบกำไร-สภาพคล่อง

ธปท.รับ บาทแข็งค่า-ผันผวน

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ถือว่าไม่น้อย แต่ตลาดได้รับรู้ และเกิดผลไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้สกุลเงินในภูมิภาคและเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น และกระทบตลาดเงินผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) บ้าง ส่วนผลกระทบในแง่เศรษฐกิจไม่ได้มาก เพราะเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่พึ่งพาระบบธนาคาร

อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่าและผันผวนเร็วในช่วงหลัง โดยนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่าแล้ว 3.1% ซึ่งเดิมแข็งค่าใกล้เคียงกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันใกล้เคียงเกาหลี นอกจากปัจจัยดอลลาร์อ่อนค่าแล้ว ไทยยังมีผลจากปัจจัยของราคาทองคำที่สูงเป็นประวัติศาสตร์ เนื่องจากสกุลเงินบาทมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำมากกว่าประเทศอื่น และเคลื่อนไหวสูงกว่าภูมิภาคทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ หากดูผลกระทบเงินบาทต่อภาคการส่งออก จะเห็นว่าในเชิงปริมาณของการส่งออกไม่ได้ปรับลดลง แต่ยอมรับว่าจะกระทบต่อส่วนต่างกำไร (มาร์จิ้น) บ้าง

“เราไม่อยากเห็นค่าเงินบาทผันผวนเร็วและเยอะ แต่ช่วงหลังผันผวนเพิ่มขึ้น โดยสิ่งที่เราทำ คือ 1.ดูที่มาของการแข็งค่ามาจากปัจจัยอะไร ซึ่งมาจากดอลลาร์อ่อนค่า จากเฟดลดดอกเบี้ย เป็นการปรับไปตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือ การแข็งค่าที่ไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน เช่น การเก็งกำไรค่าเงิน หรือ Hot Money ซึ่งดูตอนนี้ยังไม่เห็น เพราะกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ปีนี้นับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบันไหลออกราว 2.2 พันล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นและการเมืองที่ดีขึ้น เมื่อเทียบปีก่อนไหลออก 9.9 พันล้านดอลลาร์”

ลั่นไม่ต้องลดดอกเบี้ยตามเฟด

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินมองว่า แม้ว่าเฟดปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ไม่ใช่เฟดลดแล้ว ไทยต้องลดตาม เนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เช่น ฮ่องกง ทำให้เฟดลดดอกเบี้ยและต้องลดตาม อย่างไรก็ดี เฟดลดดอกเบี้ยมีความสบายใจมากขึ้นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะมีแนวโน้ม Soft Landing มากขึ้น ซึ่งเป็นการซื้อประกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จะไม่ได้ Hard Landing

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของไทย ยังคงยึดกรอบ 3 ด้าน คือ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจเข้าสู่ศักยภาพ 2.เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3% และ 3.เสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งหากดูปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ระดับศักยภาพ โดยพิจารณาจากข้อมูลมองไปข้างหน้า (Outlook Dependent) มากกว่าข้อมูลปัจจุบันหรือตัวเลขจีดีพีซึ่งจะไม่ทันการณ์ เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะกลับเข้ากรอบ แม้ว่าจะช้ากว่าคาดการณ์ ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่ได้มีการเปลี่ยนไปไปจากเดิมและเป็นไปตามอย่างที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ ธปท.กังวล จะเป็นเรื่องของเสถียรภาพระบบการเงิน จะเห็นว่าความเสี่ยงทางด้านเครดิต (Credit Risk) สูงขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อเข้มข้นขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ ธปท.ติดตามใกล้ชิด

ADVERTISMENT

“เราไม่ได้ยึดติดว่าดอกเบี้ยจะต้องอยู่เท่านี้ เราพร้อมเปลี่ยนแปลงหาก Outlook เปลี่ยน และตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีการประชุมนัดพิเศษ”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน และจะกระตุ้นหนี้ใหม่เยอะแค่ไหน โดยปัจจุบันจะเห็นว่าครัวเรือนมีปัญหาหนี้ไม่น้อย แต่หนี้ก็มีทั้งอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ดังนั้นไม่ใช่ลดดอกเบี้ยปุ๊บ ภาระหนี้จะลดลงทันที

เฟดลดดอกเบี้ย สะเทือน “ค่าบาท”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบต่อประเทศไทย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยครั้งแรก 0.50% ในรอบ 4 ปี และมีแนวโน้มลดต่อเนื่องนั้น คงเป็นในแง่ “อัตราแลกเปลี่ยน” เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับดอกเบี้ยของไทยจะมีช่องว่างน้อยลง จึงอาจกดดันค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นในระยะสั้นได้ และจะเป็นแรงกดดันไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า หากกระทบการส่งออกจะมีการดูแลอะไรหรือไม่

“แรงกดดันก็จะไปที่แบงก์ชาติ ว่าอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแออยู่แล้ว หากบาทแข็งแล้วไปกระทบความสามารถในการส่งออก แล้วแบงก์ชาติต้องทำอะไรมั้ย”

อ่านใจ กนง.ลดดอกเบี้ย ธ.ค.

อย่างไรก็ดี ดร.พิพัฒน์คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือน ต.ค.นี้ จะยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ย เพราะที่ผ่านมา ธปท.มีการส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่า จะดูข้อมูลทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยหลังประชุมอาจมีถ้อยแถลงที่ระบุถึงความเสี่ยงขาลงที่มากขึ้น รวมถึงการที่รัฐบาลมีมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทออกมา ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ ธปท.อาจจะ Wait & See เพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน

“แบงก์ชาติคงไม่ลดดอกเบี้ยทันที โดยคาดว่าอาจจะลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. หรือไม่ก็ต้นปีหน้าเลย”

กนง.รอดู 3 ปัจจัยสำคัญ

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยแรงในรอบแรกที่ระดับ 0.50% แทนที่จะเป็นระดับปกติที่ 0.25%

ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนว่า เฟดพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย และเชื่อว่าเฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% แต่อาจปรับลดมากกว่านี้ หากตัวเลขอัตราว่างงานสูงขึ้น หรืออัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าคาด

ส่วนทิศทางดอกเบี้ยของไทยนั้น ดร.อมรเทพกล่าวว่า เชื่อว่า กนง.ยังไม่น่าลดอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือน ต.ค. รอปัจจัยชี้นำในเดือน พ.ย. 3 ด้าน คือ 1.รอทิศทางการฟื้นของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ซึ่งน่าจะชะลอกว่าที่แบงก์ชาติคาดจากปัญหาน้ำท่วมกระทบกำลังซื้อของครัวเรือนและภาคเกษตร 2.ติดตามผลการลดดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่จะลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และตลาดไม่น่าแตกตื่น

และ 3.รอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งหากกรณีผู้นำใหม่ที่มีนโยบายกีดกันทางการค้าได้ชัยชนะ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

“อย่างไรก็ดี เชื่อว่า กนง.น่าลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. หลังมีความชัดเจนในตลาดเงิน ตลาดทุน และมาตรการแจกเงิน น่าจะมีความชัดเจนว่า ไม่น่าทำให้เงินเฟ้อ ซึ่ง กนง.น่าลดดอกเบี้ย 0.25% เหลือระดับ 2.25% ต่อปี”

บาทแข็งเร็ว 3 เดือนพุ่ง 10%

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อํานวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าเร็วมาก ในเวลาไม่ถึง 3 เดือน โดยตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 3 ถึงปัจจุบัน แข็งค่าแล้ว 10.8% เป็นรองแค่ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย ที่แข็งค่า 12% เมื่อเทียบคู่ค้า คู่แข่งสำคัญ ก็ต้องบอกว่าเงินบาทแข็งค่ามากและเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับผู้ส่งออก โดยเฉพาะที่ใช้ต้นทุนวัตถุดิบในประเทศสัดส่วนค่อนข้างมาก จะเสียประโยชน์ในด้านราคา

“ประเด็นสำคัญคือ เงินบาทแข็งค่าเร็วเกิน จากเมื่อเดือน เม.ย. ที่ YTD (จากต้นปี) ยังอ่อนค่าที่ระดับ 8% เป็นบ๊วยในกลุ่มประเทศคู่ค้า คู่แข่ง นอกจากนี้ ยังผันผวนสูงมาก แนะนำผู้ส่งออกว่า ตอนนี้ไม่ใช่จังหวะขายดอลลาร์ ถ้ามีโอกาสรอได้ แนะนำให้รอก่อน หรือทำเฮดจิ้ง ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อล็อกรายได้ จะได้ไม่ต้องมาลุ้นว่าเดี๋ยวค่าเงินจะแข็งไปอีก”

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท นางสาวรุ่งกล่าวว่า เมื่อเงินบาทแข็งค่าไปที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ มีโอกาสจะพักฐาน โดยมีจังหวะที่เด้งกลับไปอ่อนค่าบ้าง จากการคาดการณ์ว่าจะมีแรงเทขายทำกำไรออก แต่หลังจากนั้นก็น่าจะแข็งค่าต่อ ทั้งนี้ มองกรอบค่าเงินบาทสิ้นปีที่ 32.80-34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

หวั่นเอฟเฟ็กต์ “ท่องเที่ยว”

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุขรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทผันผวนสูงมากและแข็งค่ารวดเร็ว ซึ่งเกิดขึ้นในจังหวะที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของทั้งภาคท่องเที่ยวและภาคส่งออก ทำให้จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะธุรกิจเกษตรแปรรูป ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศและส่งออก โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นก็จะกระทบความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่ค้า และเวลาแปลงรายได้กลับมาเป็นเงินบาทก็จะได้น้อยลง รวมถึงเรื่องท่องเที่ยวที่ส่งผลทางจิตวิทยา

สำหรับนักท่องเที่ยวที่แลกเงินมาแล้วก็อาจจะใช้จ่ายได้น้อยลงในประเทศไทย ประเด็นนี้อาจจะเป็นผลกระทบธุรกิจในมุมของธุรกิจเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ ถ้าค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่าในลักษณะนี้

“ส่งออก” สะเทือน กำไรหาย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทขณะนี้อยู่ที่ 33-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้านถึง 7% ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบต่อกำไร และสภาพคล่องของผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร แต่ช่วงนี้เป็นช่วงส่งมอบสินค้าเดิม ผลกระทบจะไม่รุนแรงนัก แต่คำสั่งซื้อใหม่ที่จะเข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2568 เป็นเรื่องที่น่าห่วงว่าจะมีผลกระทบอย่างมากกับผู้นำเข้าสินค้าไทย

เมื่อเงินบาทของไทยที่แข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและผลกำไร สภาพคล่องของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยมองว่าค่าเงินบาทของไทยควรจะเฉลี่ยอยู่ที่ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเจอปัญหาเรื่องการแข่งขันที่รุนแรง และปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ยิ่งมีผลต่อภาพรวมการส่งออกไทย

“ผู้ประกอบการเองจำเป็นต้องติดตามความผันผวนของค่าเงินบาท ที่สำคัญ ต้องทำประกันความเสี่ยงไว้ด้วย”

ตลาดส่งออกข้าวเจ็บตัว

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนให้ความเป็นห่วงเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง จนถึงระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดือนก่อนหน้านี้ เงินบาทเฉลี่ย 35-36 บาท โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่ากระทบต่อความสามารถการแข่งขันไทย โดยทุกการแข็งค่า 1 บาท/เหรียญสหรัฐ ทำให้ข้าวไทยแพงขึ้น 15-30 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งจะบั่นทอนให้ไทยส่งออกข้าวได้ยากขึ้น

“วันที่ 24 กันยายนนี้ อินโดนีเซียจะเปิดประมูลนำเข้าข้าวอีก 4.5 แสนตัน และจัดไทยไปรวมกลุ่มกับปากีสถานและกัมพูชาในการพิจารณา ก็มีโอกาสน้อยที่ไทยจะชนะประมูล เพราะเมื่อเทียบเงินบาทแข็งค่าวันนี้ ราคาส่งออก (FOB) ปากีสถานไม่เกิน 510 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ต้นทุนไทยต้องขาย 560 เหรียญสหรัฐต่อตัน”

โดยจะเห็นผลกระทบการส่งออกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ และการส่งออกข้าวในปี 2568 ที่อาจจะลดลง เหลือแค่ 6.5-7.5 ล้านตัน จากเงินบาทที่แข็งค่า และการเข้ามาส่งออกของข้าวอินเดียในรอบ 2 ปี

หอการค้าขอ ธปท.ดูแลค่าเงินบาท

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เงินบาทแข็งค่าอยู่ราว 33.3-33.4 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยหอการค้าไทยเชื่อว่าแบงก์ชาติ
คงพยายามดูแลค่าเงินบาทไม่ให้หลุดกรอบ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยผู้ประกอบการจำเป็นต้องป้องกันการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเงินบาทยังมีแนวโน้มยังแข็งค่าเพิ่มขึ้นจากปัจจัยการเงินไหลเข้า

นายสนั่นกล่าวว่า เมื่อเทียบกับในภูมิภาคแล้ว มองว่าเอกชนไทยยังสามารถแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากกำลังซื้อของประเทศต่าง ๆ กำลังฟื้นตัว และสินค้าไทยที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบสำเร็จรูปปลายทาง เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารกระป๋อง ไก่สดแช่แข็ง ตลอดจนสินค้าขั้นปฐมภูมิ เช่น ยาพารา ข้าว เป็นต้น เหล่านี้ยังสามารถส่งออกได้ ทำให้ไทยสามารถแข่งขันได้ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณว่าจะฟื้นตัว

ขณะที่ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงแบบเร็ว-แรง 0.50% หอการค้าไทยเห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ กนง.ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการ สามารถที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าหุ้นไทย

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยลงแรง 0.5% และคาดการณ์ว่า ปี 2567 จะลดดอกเบี้ยลงรวม 1% ไปสู่ระดับ 4.5% และปี 2568 จะลดดอกเบี้ยลงอีก 1% ไปสู่ระดับ 3.5% ตาม Dot Plot ของเฟดนั้น

“ประเมินว่า เฟดคงค่อย ๆ ใช้นโยบายการเงินควบคุม เพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐให้ชะลอลงในลักษณะ Soft Landing หากทำได้ภายใน 1-2 เดือน ตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐเกิด Hard Landing ตลาดหุ้นสหรัฐจะลดลงแรง เบื้องต้นประเมินลักษณะการย่อลงของตลาดหุ้นสหรัฐ ตั้งแต่ระดับ 2-8% ในระยะเวลา 6 เดือน”

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐลงแรง ไม่ได้แปลว่าตลาดหุ้นไทยจะต้องปรับตัวลงแรงตาม และการที่เม็ดเงินออกจากตลาดหุ้นสหรัฐมีโอกาสไหลเข้าตลาดหุ้นไทย เพราะถ้าเกิดเฟดลดดอกเบี้ยปีนี้ 1% และปีหน้าอีก 1% รวม 8 ครั้ง ขณะที่ กนง.ลดดอกเบี้ยแค่ 1-2 ครั้งสะท้อนว่าเฟดลดดอกเบี้ยลงเร็วกว่า กนง. ในช่วง 1 ปีหลังจากนี้ จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า และค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ถ้าภาพเป็นลักษณะนี้จะเห็นเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) มีโอกาสไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง เพราะจะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

“เหตุผลสำคัญที่เชื่อว่าฟันด์โฟลว์จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทย เพราะโอกาสการเกิดเศรษฐกิจชะลอน้อยกว่า ค่าเงินบาทแข็งค่า และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 15 เท่า ในขณะที่ตลาดหุ้น S&P มีระดับ P/E ที่ 23.2 เท่า ดังนั้นในมุม Valuation ถูกกว่า เพราะฉะนั้น ตลาดหุ้นไทยมีความปลอดภัยมากกว่าเมื่อเทียบตลาดหุ้นสหรัฐ”