
ทรีนีตี้เดินหน้าหลักทรัพย์ครบวงจร รุกหนักทั้งหุ้น และ TFEX ตั้งเป้า Top 5 ในปีหน้า พร้อมลุยธุรกิจวาณิชธนกิจ และงาน M&A ต่างประเทศครั้งแรก โชว์ดีล IPO ยังแน่น มีในมือ 13-14 ดีล ทยอยเข้าจดทะเบียนในปี’67-68 คาดสามารถดันรายได้และกำไรโตต่อเนื่อง หลังตลาดหุ้นเริ่มมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้น
วันที่ 24 กันยายน 2567 ดร.วีรพัฒน์ เพชรคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 ว่า ผลดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก จากสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดหุ้น ทำให้ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะหนุนให้ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนคึกคัก และนักลงทุนเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นมากขึ้นอีกครั้ง
บริษัทจะใช้โอกาสที่ตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวเตรียมความพร้อมด้านธุรกิจค้าหลักทรัพย์อย่างเต็มที่ มีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) ทั้งหุ้น และ TFEX โดยเฉพาะในฝั่ง TFEX เรามีการขยายฐานลูกค้าจนปัจจุบันสามารถสร้างมาร์เก็ตแชร์ให้เติบโตเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า พร้อมตั้งเป้าในปี’68 จะขึ้นเป็น Top 5 ให้ได้
นอกจากนี้ ทรีนีตี้มีแผนจะขยายฐานลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้า 8 หมื่นบัญชี และบัญชีเคลื่อนไหว (Active) อยู่ 10-15% ซึ่งสูงกว่าภาพรวมที่มีอยู่ 6-7% เท่านั้น นอกจากนี้จะเพิ่ม Product ที่แตกต่างจากโบรกเกอร์ที่อยู่ในกลุ่มธนาคาร เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
โดยจะมีหลากหลายและครอบคลุมให้มากขึ้น ส่วนวงเงินมาร์จิ้น ปล่อยไปราว 1.5 พันล้านบาท ถือว่ายังต่ำเมื่อเทียบกับรายอื่น ปัจจุบันได้เคลียร์หนี้มาร์จิ้นออกไปหมดแล้ว และไม่ได้ส่งผลกระทบกับรายได้จากค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์
ดร.วีรพัฒน์กล่าวว่า ในส่วนของงานด้านวาณิชธนกิจ บริษัทจะรุกธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO) ซึ่งขณะนี้มีดีลในมือประมาณ 13-14 ดีล ซึ่งจะทยอยเข้าจดทะเบียนในปี 2567-2568
“ดีลที่จะทยอยส่งเข้าจดทะเบียนในปี’67-68 โดยมี 1 ดีลคือ บมจ.โรงพยาบาลนครธน น่าจะเข้าตลาดหุ้นในปลายปีนี้ และอีก 2 ดีลคาดว่าจะเข้าปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยหนึ่งในนั้นเป็นดีล IPO ขนาดใหญ่ในกลุ่มบริการ”
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเพิ่มทีมงาน IB ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งมีฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ อินเดีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และในประเทศแถบตะวันออกกลาง ขณะนี้มีดีล M&A ในมือแล้ว 8-10 ดีล ครอบคลุมในเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยมี 1 ดีลที่เป็นดีลปรับโครงสร้างบริษัทจดทะเบียน
ในส่วนของการออกตราสารหนี้ บริษัทมีการเพิ่มทีมตราสารหนี้ และปรับกลยุทธ์การออกตราสารหนี้ ให้มีระดับความเสี่ยงที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกกับนักลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะเป็นที่ปรึกษาในการออกตราสารหนี้ จำนวน 20-22 ดีล
ในส่วนของธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล บริษัทมีกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้า โดยจะเข้าร่วมเป็นตัวแทนจำหน่ายกองทุนให้มากขึ้น และตั้งเป้าที่จะมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) อยู่ที่ 3,200 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2,400 ล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่าจะได้เห็นรายได้จากการขายกองทุนที่ปรับตัวดีขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มและปรับปรุง Application เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการทำรายการซื้อขายผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะการปรับปรุงพัฒนาระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ และปรับปรุงระบบการเปิดบัญชีให้สะดวกสบายมากขึ้น ในส่วนของพนักงาน บริษัทมีแผนในการพัฒนาโปรแกรมการวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จะเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) ใช้ในการเลือกหุ้นให้แม่นยำ เพื่อสนับสนุนการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าให้ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง
นอกจากนี้ บริษัทจะพัฒนาระบบการทำงานภายในองค์กรให้ทันสมัย และปลูกฝังให้พนักงานได้เรียนรู้เรื่องการนำ AI เข้ามาใช้ในการทำงาน และเตรียมพัฒนาระบบให้รองรับการทำงานในรูปแบบ Work from Home
สำหรับผลดำเนินงานของบริษัทงวดครึ่งแรกปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 16.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 106.29 เมื่อเทียบกับงวดครึ่งแรกปี 2566 ที่ขาดทุนจำนวน 262.37 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้รวมและกำไรเงินลงทุนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 0.63 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 100.26 เมื่อเทียบงวดเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 239.18 ล้านบาท โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 294.89 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.07 เทียบกับงวดเดียวกันปี 2566 ที่มีรายได้รวมจำนวน 174.42 ล้านบาท