ก.ล.ต.-ตลท. จ่อออกเกณฑ์คุมผู้บริหาร บจ. เปิดข้อมูลนำหุ้นวางกู้นอกระบบ ภายในปี’68

ก.ล.ต.-ตลท. เตรียมออกเกณฑ์คุมผู้บริหาร-ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เผยข้อมูลนำหุ้นไปจำนำนอกระบบ ภายในปีนี้ 2567 คาดออกหลักเกณฑ์และบังคับใช้ได้ภายในปี 2568 พร้อมเปิด 4 ช่องทาง-ขอบเขตในการให้บริการผู้ลงทุนไทยของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ

วันที่ 24 กันยายน 2567 นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ ในฐานะโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า

ก.ล.ต. อยู่ระหว่างศึกษาการออกหลักเกณฑ์ใหม่ ให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งที่เป็นผู้บริหารและไม่เป็นผู้บริหาร เปิดเผยรายงานกรณีการนำหุ้นของบริษัทไปวางเป็นหลักประกันการกู้ยืม โดยเฉพาะการนำไปวางไว้กับ Custodian ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดการรายงาน รวมไปถึงช่องทางการเปิดเผยข้อมูลได้ภายในปี 2567 คาดจะออกหลักเกณฑ์และบังคับใช้ได้ภายในปี 2568 เป็นต้นไป

โดยปัจจุบันการนำหุ้นไปวางไว้เป็นหลักประกันไว้กับ Custodian ไม่ได้มีการบันทึกข้อมูลในระบบของบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (TSD) และไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถรู้ข้อมูลได้เลยว่าผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนนำหุ้นไปวางไว้ที่ไหนบ้าง และเมื่อเกิดกรณีหุ้นหายจาก Custodian เพราะผู้ให้กู้นำหุ้นไปขาย จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ลงทุนตามมา และผลกระทบยังเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่นด้วย เนื่องจากผู้ให้กู้สามารถสั่งขายหลักทรัพย์ได้เมื่อเกิด Trigger Event ตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา

“ในส่วนของ ก.ล.ต. คำนึกอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.เมื่อหุ้นนำไปเป็นหลักประกันและนำไปสู่การถูกบังคับขาย ส่งผลให้มีผลกระทบต่อราคาซื้อขายหุ้น เราจะทำอย่างไรให้ข้อมูลถูกเปิดเผย ผู้ลงทุนสามารถรับทราบได้ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน 2.ผู้ถือหุ้นที่นำไปเป็นหลักประกันแล้วหุ้นถูกขาย เป็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นต้องศึกษาดูแล เข้าใจในกระบวนการ ซึ่งผู้ถือหุ้นต้องคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาด้วย”

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมายและหน้าหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ในฐานะโฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ลักษณะของธุรกรรมของการนำหลักทรัพย์ไปวางเป็นหลักประกันมีหลากหลาย ประกอบด้วย

ADVERTISMENT

1. การกู้ยืมกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เพื่อซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ (Margin Loan) โดยผู้ถือหลักทรัพย์ตกลงให้ บล.บันทึกข้อมูลการใช้หุ้นเป็นหลักประกัน ซึ่ง บล.จะต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (เช่น ม.195 กฎหมายหลักทรัพย์) ได้แก่ บล.ต้องจัดให้มีบัญชีหลักทรัพย์ที่ใช้เป็นประกันแยกต่างหากตามแบบที่ ตลท.กำหนด, บล.ต้องรักษาหลักทรัพย์ให้ตรงตามประเภท ชนิด และจำนวน ตลอดเวลา

2.การกู้ยืม/ขอวงเงินกับ Credit Provider (Lender) หรือการจำนำหุ้น แบ่งเป็นการบันทึกข้อมูลหลักประกันผ่านสมาชิก TSD (เช่น บล.) โดยผู้ถือหลักทรัพย์ (ผู้กู้) ตกลงให้ บล.บันทึกการใช้หุ้นเป็นหลักประกัน หรือตกลงให้ผู้ให้กู้ยึดถือหุ้นไว้เป็นหลักประกัน

ADVERTISMENT

3.ไม่บันทึกข้อมูลหลักประกันในระบบของ TSD โดยถือหลักทรัพย์ (ผู้กู้) นำหุ้นไปวางเป็นหลักประกัน, ตกลงให้ผู้ให้กู้ยึดถือหุ้นไว้เป็นหลักประกันกับ Custodian ในประเทศ หรือต่างประเทศ ซึ่งผู้ให้กู้สามารถสั่งขายหุ้นได้เมื่อเกิด Trigger Event ตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา

”สิ่งที่พยายามทำคือทำให้มีข้อมูลที่ไม่ได้ถูกบันทึกในระบบของ TSD มากขึ้น มีการถูกเปิดเผยเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมามีกรณีที่ราคาหุ้นลง เกิดจากการที่หุ้นนำไปเป็นหลักประกันนอกระบบ เกิดการบังคับขาย (Forced Sell) ทำให้ผู้ลงทุนได้รับความเสียหายจากที่หุ้นปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งยังเป็นสิ่งที่เรากับ ก.ล.ต.หารือกันให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลมากยิ่งขึ้น“

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้ออกเอกสาร เรื่องช่องทางและขอบเขตในการให้บริการผู้ลงทุนไทยของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ ว่า เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศที่สนใจเข้ามาให้บริการผู้ลงทุนไทยทราบถึงช่องทางและขอบเขตในการให้บริการที่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ก.ล.ต. จึงได้จัดทำเอกสารสรุปแนวทางการให้บริการผู้ลงทุนไทยของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ รวมถึงกำหนดแนวทางการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาประกอบธุรกิจ (ease of doing business) โดยมีสาระสำคัญ 4 หัวข้อหลัก ดังนี้

1. การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

– ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยและมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

– ก.ล.ต. มีแนวทางในการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย โดยลดระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาให้ใบอนุญาต (fast track) หากผู้ขอรับใบอนุญาตมีคุณสมบัติและความพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว

– นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ยกเว้นการให้บริการธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่อง ออกจากบัญชีสามท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศสามารถขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. เพียงแห่งเดียว (one stop service) เช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจไทย

2. การให้บริการที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ

– นิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศที่ประสงค์จะให้บริการลูกค้าเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบันเท่านั้น สามารถขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ประเภทผู้ค้าสัญญาฯ กับ ก.ล.ต. (light touch) ซึ่งกำหนดคุณสมบัติและมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดน้อยกว่าการขอรับใบอนุญาต

– การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ปรึกษาการลงทุนที่ให้คำแนะนำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ให้คำแนะนำเฉพาะแก่กลุ่มบริษัทในเครือ หรือผู้ลงทุนสถาบัน ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาต

– ผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศอาจให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจไทยที่พาลูกค้าไปลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยผู้ประกอบธุรกิจไทยจะต้องเป็นผู้ให้บริการลูกค้าตามขอบเขตของใบอนุญาตที่ได้รับ เช่น การทำความรู้จักลูกค้า การให้คำแนะนำการลงทุน

3. การดำเนินการที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต/จดทะเบียนประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ

– การตั้งสำนักงานผู้แทนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือการเสนอขายหลักทรัพย์หรือบริการแก่ผู้ลงทุนไทย
– การจ้างบริษัท/บุคลากรในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติงานบางส่วนเพื่อการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในต่างประเทศ (outsource) โดยผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ติดต่อและให้บริการลูกค้าในต่างประเทศเอง

4. การให้บริการแก่ผู้ลงทุนไทยกรณีไม่ได้รับการอนุญาตประกอบธุรกิจ ต้องระมัดระวังการกระทำและไม่ดำเนินการที่อาจเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย เช่น

– แสดงตนหรือมีการกระทำเป็นทางค้าปกติว่าพร้อมให้บริการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ เช่น มีป้ายโฆษณา แผ่นพับ เว็บไซต์ที่เข้าถึงได้ นามบัตร

– ชักชวนผู้ลงทุนไทยให้ใช้บริการเกี่ยวกับการลงทุน/จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในประเทศไทย/จัดสัมมนา ประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทาง/สื่อต่าง ๆ โดยมีเจตนาชักชวนผู้ลงทุนไทยไปใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศได้โดยตรง

– ใช้เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นที่มีการใช้/อำนวยความสะดวกในการใช้ภาษาไทย การให้ชำระราคาด้วยเงินบาท หรือมีช่องทางอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนไทยสามารถให้บริการกันได้โดยตรง

– การกระทำอื่นใดที่เป็นการชักชวนให้มาใช้บริการโดยตรง รวมถึงการได้รับค่าตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการกระทำส่วนใดส่วนหนึ่งที่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาฯ