THG อ่วม! โบรกฯคาดไตรมาส 3 เสี่ยงขาดทุน เจอสำรองหนี้สูญ 110 ล้าน

ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

“ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป” อ่วม “บล.กรุงศรี” คาดไตรมาส 3/67 ผลดำเนินงานเสี่ยงขาดทุน เจอสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญ 110 ล้านบาท ปรับคาดการณ์กำไรปีนี้ลดลง 69% เหลือ 122 ล้านบาท พร้อมปรับราคาเป้าหมาย ชี้ผลดำเนินงานปีนี้จะแย่กว่ากลุ่ม

วันที่ 26 กันยายน 2567 นางสาวมินทรา รัตยาภาส นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (THG) ได้แจ้งข่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุ คณะกรรมการตรวจพบการทำรายการของบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง (THB) และบริษัท ที เอช เฮลท์ (THH) ซึ่ง THG ถือหุ้น 83% และ 51.2% ตามลำดับ มีขั้นตอนการอนุมัติไม่ถูกต้องในการทำรายการดังนี้

1.ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทราชธานีพัฒนาการ (2014) ซึ่งมีครอบครัววนาสินถือหุ้นใหญ่ ในเดือน ธ.ค. 2565 ถึงปี 2566 มูลค่ารวม 145 ล้านบาท

2.กู้ยืมเงินแก่บริษัทไทยเมดิเคิล กรุ๊ป (บริษัทราชธานีพัฒนาการ ถือหุ้นใหญ่) ในปี 2566 มูลค่า 10 ล้านบาท

3.THH สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง ในปี 2566 มูลค่า 55 ล้านบาท

โดยปัจจุบันยอดหนี้คงค้างมูลค่ารวม 105 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) มองว่าประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาการควบคุมภายใน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์บริษัท ในเบื้องต้นประเมิน THG อาจต้องตั้งสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญราว 110 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2567 (สมมุติฐานอัตราดอกเบี้ย 7% ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566-ก.ย. 2567)

ADVERTISMENT

โดยในไตรมาส 3/2567 คาดว่าผลการดำเนินงานของ THG มีโอกาสขาดทุน หากต้องตั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้เป็นมูลค่าตามที่ประเมิน ทั้งนี้หากไม่รวมการตั้งสำรอง คาดธุรกิจปกติจะมีกำไรลดลงเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) โดยไตรมาส 3/2566 มีกำไร 308 ล้านบาท

เนื่องจากคาดว่าธุรกิจโรงพยาบาล มีผลกระทบต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการขยายศักยภาพให้บริการของโรงพยาบาลธนบุรี 1 (เพิ่มห้องตรวจ OPD 80 ห้อง) โรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา (เพิ่มห้องตรวจ OPD 45 ห้อง, IPD 49 เตียง), โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี (เพิ่มห้องตราจ OPD 5 ห้อง)

ADVERTISMENT

ทั้งนี้เทียบจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) คาดกำไรเติบโต โดยไตรมาส 2/2567 มีกำไร 43 ล้านบาท มีปัจจัยบวกฤดูกาลของการใช้บริการเพิ่มขึ้น ประกอบกับคาดผลกระทบของค่าใช้จ่ายปรับโครงสร้างลดลง และโรงพยาบาลในเมียนมาไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษ

ทั้งนี้ได้ปรับกำไรสุทธิปี 2567 ลงจากเดิม 69% เป็น 122 ล้านบาท (เดิม 393 ล้านบาท) ส่วนปี 2568-2569 ปรับกำไรสุทธิลง 43% และ 40% เป็น 340 ล้านบาท (เดิม 600 ล้านบาท) และกำไรสุทธิ 495 ล้านบาท (เดิม 825 ล้านบาท) ตามลำดับ สะท้อน 1.โครงสร้างโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ทำให้มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงกว่าคาดเดิม 2.รวมค่าใช้จ่ายพิเศษของโรงพยาบาลในเมียนมาที่เกิดขึ้นในไตรมาส 2/2567 มีมูลค่าราว 10 ล้านบาท และ 3.รวมสมมุติฐานค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ที่คาดว่าจะบันทึกในไตรมาส 3/2567 ราว 110 ล้านบาท

โดยคงคำแนะนำ “ลดการลงทุน” สำหรับหุ้น THG ประเมินราคาเป้าหมายปี 2568 ที่ 22 บาท (เดิมราคาเป้าหมายปีนี้ 30 บาท) เนื่องจาก 1.ผลการดำเนินงานปีนี้จะแย่กว่ากลุ่ม จากผลกระทบปรับโครงสร้างโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ธุรกิจที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ และค่าใช้จ่ายพิเศษ

2.ไตรมาส 3/2567 มีโอกาสขาดทุน หากต้องตั้งสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญ และ 3.ปัญหาการควบคุมภายในบริษัท ส่งผลลบต่อภาพลักษณ์บริษัทเพิ่มเติมจากกรณีผู้บริหาร ถูกสำนักงาน ก.ล.ต.สั่งปรับฐานให้ข้อมูลมีผลต่อราคาหุ้นเมื่อเดือน ส.ค. 2565 ทำให้เป็นความเสี่ยงด้านอันดับเครดิตองค์กร ซึ่งอาจกระทบต้นทุนเงินทุนในอนาคต นอกจากนี้ THG มีมูลค่าหุ้น (Valuation) แพงสุดในกลุ่มโรงพยาบาลที่ศึกษา จากซื้อขาย P/E ปี 2568 ที่ 63 เท่า สูงกว่า P/E เฉลี่ย 34 เท่า ของกลุ่มโรงพยาบาลที่ศึกษา