Nouveau Chinese Consumer

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย พูนพิชญา ปัณฑิตานนท์ ที่ปรึกษาการลงทุน ทิสโก้ เวลธ์

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจจีนอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากประเทศที่เคยเป็นผู้รับจ้างผลิต กลายเป็นชาติเจ้าของนวัตกรรม มีสินค้าไฮเทคส่งออก ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเป็นชาติผู้นำในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้ง e-Commerce ตลอดจน online payment

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในเชิงเศรษฐกิจและการลงทุนขนานใหญ่นี้ ทำให้เราในฐานะคนไทยที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนและกำลังซื้อมหาศาลของนักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาในบ้านเรา ตลอดจนความเจริญของเมืองในจีนที่รุดหน้า ไม่เว้นแม้แต่เมืองใจกลางประเทศ ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนอยากนำภาพใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น และโอกาสที่นักลงทุนจะได้มีส่วนในการทำกำไรจากความร่ำรวยของจีน

เพื่อให้เห็นภาพเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น GDP ต่อหัวของจีนนั้นปรับขึ้นเกือบเท่าตัวในเวลาไม่ถึง 10 ปี จากเมื่อ 2012 ไทยเรายังมี GDP ต่อหัวสูงกว่าจีน แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นจีนที่มีรายได้ต่อหัวสูงกว่า และมีแนวโน้มที่จะสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป (GDP ต่อหัวปี 2017 ของจีนอยู่ที่ 8,830 USD และของประเทศไทยอยู่ที่ 6,882 USD ข้อมูลจาก CEIC) เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภาคบริการและนวัตกรรมที่รุดหน้าขึ้นทุกวัน ซึ่งสิ่งที่ตามมาพร้อมความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจจีนคือการขยายตัวของชุมชนเมืองและประชากรที่มีกำลังซื้อก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

จากรายงานของ McKinsey จีนจะมีจำนวนครัวเรือนที่อยู่ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นราว 100 ล้านครอบครัวในเวลาเพียง 10 ปี โดยในปี 2022 McKinsey คาดว่าจะมีจำนวนครัวเรือนในเขตเมือง 357 ล้านครอบครัวจากปี 2012 ที่มีเพียง 256 ล้านครอบครัว (จากข้อมูลของ Statis ปัจจุบันครัวเรือนจีนในปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 3 คน) โดยในจำนวนนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่จะมีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (upper middle income มีรายได้ครัวเรือน 106,000-229,000 หยวน) เป็นจำนวน 54% และกลุ่มรายได้สูง (affluent มีรายได้ครัวเรือนเกิน 229,000 หยวน) จำนวน 9% ซึ่ง 2 กลุ่มนี้ เดิมในปี 2012 มีเพียง 17% ของประชากรเขตเมือง ซึ่งหากบวกลบคูณหารแล้วจะพบว่าประชากรผู้มีกำลังซื้อนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าตัวภายในเวลาแค่ 10 ปี

และอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ครัวเรือนผู้มีกำลังซื้อสูงเริ่มมีความพิถีพิถันในการเลือกบริโภค โดยใส่ใจในภาพลักษณ์ มากกว่าเพียงราคาและความทนทาน และยิ่งกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่มีคุณสมบัติที่กล้าใช้จ่ายมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ และที่สำคัญครัวเรือนจีนยังมีหนี้ครัวเรือนที่ไม่สูงมากนัก (ปัจจุบัน 49% ของ GDP เทียบกับไทยที่มีถึง 78%, ข้อมูลจาก Trading Economics)

ในฐานะนักลงทุนการเติบโตของกำลังซื้อในจีนถือว่าเป็นชิ้นปลามันที่น่าจับตา เพราะด้วยแนวโน้มที่เศรษฐกิจจีนยังคงรักษาการเติบโตในระดับสูง ย่อมหมายถึงโอกาสในการเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่กำลังซื้อกำลังเติบโตกลุ่มนี้จะเข้าไปบริโภค

แต่ในบรรดากองทุนรวมจีนที่มีขายอยู่ในบ้านเราหลายกองนั้น มีตั้งแต่กลุ่ม passive fund ที่เน้นลงทุนตามดัชนี H-share หรือ A-share ซึ่งเน้นลงทุนในอุตสาหกรรมธนาคารและกิจการขนาดใหญ่ และกลุ่มกองทุนที่เป็น active fund ซึ่งมีหลากหลายนโยบายการลงทุน

โดยกลุ่มที่จะพบได้เยอะที่สุดคือกลุ่มที่เน้นลงทุนหุ้นเทคโนโลยีจีน ที่ผู้เขียนก็เคยได้แนะนำไปเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว แต่ในระยะหลังกองทุนกลุ่มเทคโนโลยีจีนเริ่มมีราคาสูงขึ้น ในระยะหลังจึงเริ่มมีกองทุนหุ้นจีนบางแห่งที่เน้นลงทุนหุ้นที่สอดรับกำลังซื้อที่กำลังเติบโตและมีการเฟ้นหาหุ้นที่จดทะเบียนบนจีนแผ่นดินใหญ่ (ตลาด Shenzhen และ Shanghai) ที่การลงทุนผ่านตลาดฮ่องกงไม่สามารถลงทุนได้ บางบริษัทมีสินค้าที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างดีในเมืองจีน และเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ เช่น บริษัทผู้ผลิตสุรา Maotai ซึ่งมี supply การผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรในประเทศที่มีกำลังซื้อเพิ่ม และเป็นบริษัทที่มีกำไรเติบโตประมาณ 62% ในปี 2017 ซึ่งเป็นตัวอย่างของกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ทำให้เป็นกองทุนที่มีแนวคิดการลงทุนตามแนวโน้มดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจ

ผู้เขียนจึงแนะนำให้นักลงทุนลองศึกษากองทุน active fund ที่มีนโยบายการลงทุนหุ้นจีนในลักษณะดังกล่าว เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้นักลงทุนได้รับโอกาสจากความก้าวหน้าของกำลังซื้อจีน